การขอสินเชื่อ โดยทั่วไปแล้วมีวิธีการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบสองวิธีหลักๆด้วยกัน นั่นคือ การคิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ และการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เชื่อว่าหลายท่านน่าจะเคยได้ยินมาพอสมควร แล้วดอกเบี้ยลดต้นลดดอก คืออะไร แต่สองวิธีนี้คิดแตกต่างกันอย่างไร แบบไหนที่ให้ประโยชน์กับผู้ขอสินเชื่อมากกว่ากัน บทความนี้ มีคำตอบค่ะ

อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก คืออะไร

อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก คืออะไร

ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หรือ Effective Rate คือวิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบหนึ่งของการขอสินเชื่อ ซึ่งโดยมากแล้วจะพบในสินเชื่อประเภทซื้อบ้าน เพื่อพิจารณาสินเชื่อประเภทนี้แบบเข้าใจง่าย เราจะลองแยกชื่อสินเชื่อนี้เป็นสองคำ คือ “ลดต้น” และ “ลดดอก” คำแรก “ลดต้น” คืออะไร?

ลดต้นในที่นี้หมายถึง เงินต้นที่ขอสินเชื่อ ซึ่งจำนวนนี้จะถูกนำมาคิดอัตราดอกเบี้ยในแต่ละงวด โดยที่เมื่อเราจ่ายเงินในแต่ละงวดแล้ว เงินจำนวนนี้ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ตามจำนวนเงินที่เราจ่ายไป คำต่อมาคือคำว่า “ลดดอก” ซึ่งหมายถึง ดอกเบี้ยที่เราจะต้องจ่ายในแต่ละงวด แต่ดอกเบี้ยนี้จะลดลงเรื่อยๆตามจำนวนเงินต้น ซึ่งหมายความว่า ยิ่งเงินต้นลดเยอะเท่าไหร่ ดอกเบี้ยก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น แล้วเมื่อเงินต้นและดอกเบี้ยลดลง ทำไมยังต้องจ่ายค่างวดเท่าเดิมอยู่ล่ะ? เพราะว่า ถึงแม้เราจะจ่ายค่างวดเท่าเดิม แต่จำนวนที่จ่ายไปนั้น ส่วนที่ลดลงจากดอกเบี้ยจะถูกนำไปหักเงินต้นด้วย

ดอกเบี้ยลดต้นลดดอกต่างกับดอกเบี้ยคงที่อย่างไร

ดอกเบี้ยลดต้นลดดอกต่างกับดอกเบี้ยคงที่อย่างไร

เมื่อชื่อต่างกัน แน่นอนว่าความหมายจะต้องต่างกันด้วย อย่างที่ได้เห็นไปแล้ว ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) นั้น ยิ่งเราจ่ายเงินต้นไปเยอะเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยก็จะถูกคำนวณใหม่และลดลงมากขึ้นเท่านั้น แต่ในกรณีของดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate) นี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราจ่ายเงินต้นไปเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าจะจ่ายไปนานแค่ไหน ดอกเบี้ยที่ถูกคิดคำนวณก็ยังเท่าเดิมอยู่ดี คือ คิดจากจำนวนเงินต้นที่ขอสินเชื่อ แล้วนำมาหารจำนวนงวดที่ต้องจ่าย และจ่ายดอกเบี้ยเท่าเดิมแม้เงินต้นจะลดลง จนกว่าจะหมดสัญญาเงินกู้นั้น

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับดอกเบี้ยลอยตัว กับ ดอกเบี้ยคงที่ ต่างกันอย่างไร ที่นี่

ตัวอย่าง การคิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอก

เราขอสินเชื่อ 10,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี แบบลดต้นลดดอก สัญญาผ่อนชำระ เดือนละ 1,000 บาท

ดอกเบี้ย 12% = 1,200 บาท ต่อปี 1ปี = 12 งวด = ดอกเบี้ยงวดละ 100 บาท งวดแรก ชำระเงิน 1,000 บาท = เงินต้น 900 บาท + ดอกเบี้ย 100 บาท

ยอดเงินต้นหลังชำระงวดแรกคงเหลือ 9,100 บาท ดอกเบี้ย 12 % = 1,092 บาท ต่อปี 1ปี = 12 งวด = ดอกเบี้ยงวดละ 91 บาท งวดต่อไป ชำระเงิน 1,000 บาท = เงินต้น 909 บาท ดอกเบี้ย 91 บาท

เห็นได้ชัดว่า ยิ่งเราจ่ายค่างวดในแต่ละเดือน เงินที่เหลือจากการจ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงนั้นก็จะถูกนำไปตัดเงินต้นมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งตัดเงินต้นเยอะเท่าไหร่ก็จะยิ่งจ่ายดอกเบี้ยถูกลงเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว การกู้เงินแบบนี้หากเรามีเงินก้อน เราสามารถจ่ายเงินต้นเพิ่มขึ้นได้ และยิ่งหากเรามีเงินมากพอเราสามารถนำเงินก้อนมาปิดยอดก่อนถึงกำหนดชำระได้ด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับสัญญาในแต่ละบริษัท ซึ่งอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการปิดยอดก่อนเวลาด้วย เนื่องจากทำให้บริษัทเสียกำไรบางส่วนในการปิดยอดนี้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ที่นี่

ข้อดีของดอกเบี้ยลดต้นลดดอก

ข้อดีของดอกเบี้ยลดต้นลดดอก

หนี้หมดไวขึ้น เพราะดอกเบี้ยลดลงเรื่อยๆและหักเงินต้นเพิ่มขึ้นทุกเดือน มีน้อยจ่ายเท่าเดิม มีมากจ่ายเพิ่มได้ ไม่จำกัดยอดสูงสุดของการจ่ายในแต่ละงวด ยิ่งมีมาก ยิ่งลดเงินต้นได้เร็ว สามารถปิดยอดได้เมื่อต้องการ

เข้าใจเหตุผลหรือยังคะว่า ทำไมผ่อนไปหลายปี เงินต้นแทบไม่ลดลงเลย? แสดงว่าสินเชื่อที่เราผ่อนอยู่นั้นเป็นแบบดอกเบี้ยคงที่นั่นเอง แต่ถึงแม้จะดูเหมือนว่า ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกจะดูดีหรือถูกกว่าแบบคงที่ แต่การจะตัดสินใจนั้น เราต้องดูถึงปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น ปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยต่อปี ในแต่ละสินเชื่อจะไม่เท่ากัน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่บางบริษัทจะถูกกว่า และดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกบางบริษัทจะแพงกว่า ดังนั้น เราควรเช็คเรื่องอัตราดอกเบี้ย และคำนวณดอกเบี้ยทั้งหมดให้ดีก่อนการตัดสินใจ เพราะในหลายๆครั้งจะพบได้ว่า เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยทั้งหมดแล้ว บางบริษัทความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกกับดอกเบี้ยแบบคงที่ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่เลย

สุดท้ายนี้ ขอฝากทริคเล็กๆในการคำนวณว่าแบบไหนถูกหรือแพงกว่า โดยการแปลงดอกเบี้ยคงที่ให้เป็นดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งเราจะดูแค่ตัวเลขดอกเบี้ยของทั้งสองแบบแล้วมาเทียบกันเลยไม่ได้ เนื่องจากว่า วิธีการคิดดอกเบี้ยของทั้งสองแบบนั้นไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น วิธีการแปลงแบบคร่าวๆก็คือ ใช้ 1.8 คูณกับอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ แล้วนำตัวเลขที่ได้มาเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกอีกที เช่น ดอกเบี้ยแบบคงที่ 4% ต่อปี ในขณะที่ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก 7% ต่อปี ต้องนำ 4% × 1.8 = 7.2% ต่อปี

ดังนั้น เมื่อเทียบกันแล้ว ดอกเบี้ยแบบคงที่จึงแพงกว่าแบบลดต้นลดดอกถึง 1.2 % ต่อปี และหากพิจารณาอื่นๆร่วมด้วย เช่น ความสะดวกในการจ่าย หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ถ้าไม่ต่างกันเท่าไหร่ กรณีนี้ก็อาจตัดสินได้ว่า ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกคุ้มค่ากว่าแบบคงที่ ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจ อย่าลืมคำนวณอัตราดอกเบี้ยคร่าวๆและเปรียบเทียบกันก่อนนะคะ หากอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่างเลย