บริษัทถูกสั่งปิดกระทันหันค่ะ! พนักงานต้องตกงาน นี่คือผลกระทบที่เกิดมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เดือดร้อนไปตามๆกันทุกอาชีพไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องตกงานแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยแบบนี้ ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนเลย !

ในสถานการณ์แบบนี้ดิฉันเข้าใจค่ะว่า เป็นใครก็ต้องรู้สึกช็อค และเครียดเป็นธรรมดาแต่อย่าปล่อยให้อาการนี้อยู่นานเกินไปนะคะเพราะตราบใดที่ชีวิตยังไม่สิ้น เราต้องดิ้นรนกันต่อไป  เราต้องรีบตั้งสติ อย่าพึ่งท้อแท้และหมดหวังไปก่อนนะคะ ทุกปัญหามีทางออกเสมอค่ะ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ และน้องๆทั้งหลายที่ตกงานแบบกลางอากาศรู้สึกอุ่นใจและมีความหวังและสู้ต่อไปได้ ในบทความนี้ดิฉันได้นำข้อมูลที่เพื่อนๆควรทำและต้องรู้เพื่อรับมือกับการตกงานแบบกระทันหันมาฝากกันค่ะ เช่น เงินชดเชยจากนายจ้างที่เราต้องได้ ,  ติดต่อประกันสังคมเพื่อรับสิทธิในฐานะผู้ประกันตน , เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้ทุกเดือน , หางานใหม่เผื่อเอาไว้ก็ดี ดิฉันหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และช่วยเพื่อนๆได้บ้างนะคะลองอ่านไปพร้อมๆกันเลยค่ะ

เงินชดเชยจากนายจ้างคุณต้องได้

เงินชดเชยจากนายจ้างคุณต้องได้

เพื่อนๆรู้มั้ยคะว่า เมื่อเราตกงาน หรือถูกออกจากงานโดยไม่ได้สมัครใจ และเราเองก็ไม่ได้มีความผิดอะไรด้วย นายจ้างต้องรับผิดชอบส่วนนี้ด้วยนะคะ ในฐานะมนุษย์เงินเดือน คงไม่มีใครอยากให้ตัวเองต้องมาเจอกับการถูกเลิกจ้างแบบกระทันหัน หรืออยู่ในภาวะตกงานหรอกใช่มั้ยคะ ? แต่ถ้ามันเกิดขึ้นกับตัวเองแล้วก็อย่าพึ่งหมดหวังค่ะ ถึงแม้เราจะถูกเลิกจ้าง แต่เราก็ยังมีสิทธิ์ในฐานะพนักงาน และลูกจ้างอยู่นะคะ สิทธิที่เราควรจะได้ตามกฎหมายกำหนดเอาไว้กรณีนายจ้างให้ออกงานโดยที่เราไม่มีความผิด ก็ยังมี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,  และเงินชดเชยต่างๆให้เราอยู่ค่ะ

เมื่อรู้แบบนี้เราต้องรักษาสิทธิ์ของเราเอาไว้ด้วย ในฐานะมนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้มาก่อนว่า เราสามารถเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้างได้ค่ะ เงินชดเชยเป็นสิ่งที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับพนักงาน เพื่อช่วยเหลือในกรณีที่ให้เราออกจากงานโดยไม่มีความผิด เพื่อเราจะมีเงินใช้จ่ายในระหว่างที่ว่างงาน และใช้เป็นทุนในการหางานใหม่  เงินชดเชยที่เราจะได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนค่ะ

เงินค่าตกใจ  การณีที่นายจ้างให้เราออกจากงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกล่วงหน้าให้เท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้ายค่ะ

เงินค่าชดเชยการถูกเลิกจ้าง โดยไม่เต็มใจ ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยตามอายุการทำงาน และเงินเดือน ยิ่งทำงานมานานก็ได้ค่าชดเชยเยอะนะคะ เช่น ทำงานตั้งแต่ 3เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 1ปี จะได้รับค่าชดเชยเท่าค่าจ้างเดือนสุดท้าย 30 วัน, ทำงานติดต่อกันครบ 1-3 ปี ได้รับค่าชดเชย  90 วัน, ทำงานตั้งแต่ 3-6 ปี ได้รับค่าชดเชย 180 วัน, 6-10 ปี ได้รับค่าชดเชย 240 วัน, 10-20 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน, ถ้าทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไปได้รับค่าชดเชย 400 วันค่ะ กฎหมายนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ ปี 2562 เป็นต้นมาค่ะ

ติดต่อประกันสังคมเพื่อรับสิทธิ์ของผู้ประกันตน

ติดต่อประกันสังคมเพื่อรับสิทธิ์ของผู้ประกันตน

เมื่อตกงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2563เป็นต้นไป เราจะได้รับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงานจากประกันสังคมด้วยนะคะ โดยเฉพาะผู้ประกันตน มาตรา 33  ที่ ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภานใน 15 เดือนก่อนว่างงาน โดยต้องรีบไปขึ้นทะเบียนคนว่างงานภายใน 30 วันนะคะ  ส่วนเงินทดเทนที่จะได้รับคือ 62% ของค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน ตลอดเวลาที่นายจ้างหยุดดำเนินกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน โดยจะคิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทค่ะ เช่น คนที่มีรายได้เดือนละ 15,000 บาทจะได้รับเงินทดแทนวันละ 310 บาท เป็นเวลา 90 วัน รวมแล้วเราจะได้เงินทดแทนทั้งหมดจำนวน 27,900 บาท ( 310×90 =27,900 )   เพื่อนๆสามารถติดต่อเพื่อใช้สิทธิ์ได้ที่ www.sso.go.th นะคะ

เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้ทุกเดือน

เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้ทุกเดือน

เมื่อถูกเลิกจ้างหรือตกงานแบบกระทันหัน เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกเครียดและกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ  เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเกิดความเครียดในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงตกงานแบบกระทันหันนี้ เราควรมีเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้ด้วย จริงๆแล้วการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเป็นสิ่งควรทำเป็นอับดับแรกๆเมื่อได้รับเงินเดือน เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันพรุ่งนี้ใช่มั้ยคะ ?  ถ้าเราสร้างนิสัยในการออมเงินสำรองเอาไว้อย่างน้อย 6 เดือน ของค่าใช้จ่ายของแต่ละเดือนจะช่วยเราได้เยอะในช่วงที่ตกงาน  เงินชดเชยรายได้จากนายจ้างและค่าทดแทนจากประกันสังคมที่ได้มา เราควรเก็บบางส่วนเอาไว้สำรองด้วยเพราะเราไม่รู้ว่าเราจะว่างงานไปอีกเมื่อไหร่ ?

หางานใหม่เผื่อเอาไว้ก็ดี

หางานใหม่เผื่อเอาไว้ก็ดี

อย่างที่เรารู้กันดีว่า เมื่อเจอปัญหาเศรษฐกิจ หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ไม่รู้จะกลับมาเปิดกิจการได้อีกเมื่อไหร่?  เราเองจะได้กลับไปทำงานอีกหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ถ้าเราเป็นคนที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร และรู้จักวางแผนชีวิต เราควรจะเตรียมตัวหางานใหม่ๆเผื่อเอาไว้บ้างก็ดีนะคะ หรืออาจจะหารายได้เสริมจากสิ่งที่เราถนัด หรือมองอาชีพใหม่ๆที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้คนในตอนนี้ก็ได้ค่ะถึงแม้จะตกงานแต่ถ้าเรามีงานทำ และมีรายได้เสริมเข้ามาถึงแม้จะได้ไม่เท่าเดิม แต่มันช่วยเราให้มีเงินใช้จ่ายและผ่านช่วงตกงานได้โดยไม่เครียดมากเกินไปแน่นอนค่ะ

อนาคตไม่แน่นอนเซฟตัวเองเอาไว้ก่อนดีที่สุด

อนาคตไม่แน่นอนเซฟตัวเองเอาไว้ก่อนดีที่สุด

อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่เรากำหนด หรือควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนคือ การเซฟตัวเอง ซึ่งการเซฟตัวเองของคนส่วนใหญ่แล้วก็จะมีวิธีที่แตกต่างกันแต่ก็มีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยในอนาคตทั้งในเรื่องสุขภาพ และการเงิน เมื่อเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ? เอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายหล่ะ? เราควรเซฟตัวเองด้วยการวางแผนทางการเงินเอาไว้ เริ่มตั้งแต่กันเงินส่วนหนึ่งเอาไว้เผื่อฉุกเฉินทุกเดือน และเก็บเงินส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับการลงทุน และทำประกันชีวิตเผื่อเอาไว้ถ้าใครทำได้แบบนี้ไม่ว่าจะตกงานหรือว่างงานคุณก็ยังอยู่ได้โดยไม่ต้องกังวล!