สำหรับใครๆที่ทำธุรกรรมทางการเงินบ่อยๆ ผ่านทางเครื่องทำรายการอัตโนมัติ (ATM) , Internet Banking และ Mobile Banking ไม่ว่าจะจากความเคยชิน หรือความผิดพลาด เคยคิดกันมั๊ยค่ะว่า ถ้าเราโอนเงินไปผิดบัญชี/ผิดจำนวน จะทำอย่างไรดี ขอคืนได้มั๊ย... หรือแม้แต่เมื่อมีใครโอนผิดเข้ามา โดยที่เราเป็นผู้รับโอน ไม่คืนผิดไหม และคืนอย่างไรให้ปลอดภัยจากกลโกง!
ก่อนที่เราจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ มาดูข้อแนะนำดีๆ จากทางธนาคารที่ควรทราบ และขั้นตอนในการขอความช่วยเหลือ เพื่อจะป้องกันตนเองให้เป็น และตั้งสติให้ดีได้ แม้เจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันค่ะ มาดูวิธีแก้ปัญหานี้กันเลย
กรณีโอนเงินผิดบัญชี/ผิดจำนวน
สาเหตุของเรื่องนี้มักมาจาก ความรีบร้อนในการทำรายการจนลืมตรวจสอบ เช่น การใส่เลขบัญชีไม่ถูกต้อง การเลือกธนาคารหรือชื่อบัญชีปลายทางที่จะโอนผิด รวมถึงการโอนเงินไปแบบเกินจำนวนใส่เลข 0 พลาด หากเป็นลักษณะนี้ ถ้าเรารู้จักกับเจ้าของบัญชีปลายทาง ก็สามารถติดต่อขอคืนเงินกับเขาได้เลยทันที แต่ถ้าไม่สามารถติดต่อได้ หรือไม่ได้รู้จักกับเจ้าของบัญชีปลายทาง เราก็จะต้องให้ธนาคารต้นทางของเราเป็นตัวกลางในการช่วยประสานงานขอคืนเงินให้ค่ะ
โดยเจ้าของบัญชีบัญชีที่มีการโอนอย่างเรา จะต้องรวบรวมเอกสารในการทำรายการไปติดต่อที่สถานีตำรวจ เช่น สลิปการโอน/ใบบันทึกรายการ หรือภาพถ่ายหน้าจอของข้อความแจ้งผลการโอนเงิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ออกใบแจ้งความ หรือใบบันทึกเหตุการณ์ประจำวันที่ระบุอย่างละเอียด เช่น ชื่อธนาคารทั้งฝั่งต้นทางและปลายทาง , วันที่และเวลาที่ทำการโอน พร้อมช่องทางในการโอนเงิน. แล้วเราก็นำส่งหลักฐานเหล่านั้นติดต่อกับทางธนาคารเพื่อรอการแจ้งกลับค่ะ. ทางที่ดีก็อย่าพลาดเลยจะได้ไม่ยุ่งยากวุ่นวาย แค่ตรวจทานให้ถี่ถ้วนอีกนิดก่อนกดโอน เช็คชื่อผู้รับให้ตรงเป้า และจำนวนเงินให้เป๊ะปัง ก็จะช่วยลดเวลาที่จะต้องกลับมาแก้ไขความผิดพลาดตรงนี้กันนะคะ
กรณีมีคนโอนเงินผิดมาให้
แต่หากเจอกรณีเงินที่มีการแจ้งเตือนเข้ามานั้นไม่ใช่ของเรา แต่มาจากการโอนผิด เราก็ต้องหาวิธีการจัดการให้ถูกต้อง เพื่อไม่สร้างปัญหาตามมาด้วยค่ะ ซึ่งหากเรากับเจ้าของบัญชีที่โอนผิดรู้จักกัน ก็สามารถโอนคืนกลับให้ได้ในทันที แต่หากเราไม่รู้จักหรือสนิทกับผู้โอนคนนั้นจริงๆ เช่น ติดต่อแบบผิวเผินในโลกออนไลน์ หรือไม่ทราบชื่อหรือติดต่อกันมาก่อน การโอนคืนกลับไปให้เขาเลย ก็อาจจบไม่สวยอย่างที่คิดเอาไว้ด้วย เพราะหากเป็นมิจฉาชีพที่ปลอมตัวมาสั่งซื้อสิ่งของผิดกฎหมาย และเลี่ยงการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ก็จะเลือกโอนเข้าบัญชีใครสักคนแทนให้จ่ายแทน พอเราโอนกลับไปให้เขาต่ออีกทอด ก็จะเข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดร่วมไปได้ด้วย หรือสอบถามข้อมูลบัญชีของเราเพื่อนำไปฉ้อโกงก็เป็นได้
ในกรณีนี้ เราห้ามรีบขอเลขบัญชีเพื่อโอนกลับในทันที แต่ให้สังเกตดูว่า เขาหลอกถามข้อมูลส่วนตัวจากเรา หรือเร่งรัดให้โอนเงินกลับไหม หากเขาติดต่อกลับมาเอง ก็ควรกันไว้ก่อนโดยขอชื่อ – สกุล เบอร์ติดต่อกลับของเขา และขอเวลาตรวจสอบก่อนว่ามีการโอนเงินผิดบัญชีมาตามข้อมูลที่ได้บอกมาจริงหรือไม่ ตามด้วยการเช็คใน Internet Banking , Mobile Banking หรือสอบถาม Call Center ของธนาคารเพื่อตรวจสอบการโอนเงินตามรายการที่ว่า
เพราะหากเป็นการโอนเงินผิดจริง ผู้ที่มาติดต่อเรา ควรจะเป็นเจ้าหน้าที่จากทางธนาคาร เพื่อขอให้เรายินยอมในการโอนเงินกลับ และแจ้งได้ว่ามีการทำรายการที่ผิดพลาดเมื่อไหร่ เวลาไหน จำนวนเงินเท่าไหร่ และทำรายการผ่านในช่องทางใด ซึ่งเราเรายินยอมทางธนาคารก็จะเป็นผู้ดำเนินการดึงเงินกลับไปยังบัญชีต้นทางให้ แบบที่เราไม่ต้องโอนกลับด้วยตนเอง และแจ้งผลการทำรายการให้ไว้อีกเป็นหลักฐานซึ่งถือว่าปลอดภัยที่สุดในกรณีนี้ค่ะ
การรวบรวมหลักฐาน และขั้นตอนการช่วยเหลือจากธนาคาร
เราต้องเข้าใจข้อเท็จจริงด้วยที่ว่า หากเราเป็นผู้โอนที่โอนผิด ธนาคารจะไม่สามารถดึงเงินกลับให้ได้ในทันที นอกจากมีคำยินยอมจากผู้รับโอน และเราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนเองด้วย จากการโอนไป-กลับ และถ้าเราเป็นผู้รับโอน หากไม่คืนเขาไป เมื่อได้รับการรองขอจากฝั่งผู้โอน เราก็จะมีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน จากความผิดเรื่องการนำเงินผู้อื่นไปใช้ ข้อหายักยอกทรัพย์ ที่อาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย
ส่วนในกรณี ผู้โอนไม่สามารถติดต่อเจรจากับผู้รับโอน เพื่อขอคืนเงินได้ เราก็จะสามารถขอความช่วยเหลือจากธนาคารได้โดย รวบรวมเอกสาร/หลักฐานเพื่อให้ธนาคารตรวจสอบ คือ ข้อมูลของวัน/เวลา และจำนวนเงินในใบบันทึกรายการ หรือภาพหน้าจอ ที่แจ้งผลการโอนเงิน , ชื่อบัญชี/หมายเลขบัญชี หรือเบอร์โทรศัพท์และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้โอนและผู้รับโอน (ถ้ามี) และเอกสารเพิ่มเติมอื่นๆที่ธนาคารกำหนด เช่น ใบคำร้องขอการตรวจสอบ , ใบแจ้งความที่มีการลงบันทึกประจำวัน หรือสำเนาบัตรต่างๆ เป็นต้น
หลังจากนั้น ทางธนาคารก็จะดำเนินการให้กับเราใน 4 ขั้นตอน คือ
-
แจ้งปัญหานี้กับทางธนาครของผู้โอน และนำส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
-
ธนาคารรับเรื่องไว้พิจารณา และแจ้งระยะเวลาในการดำเนินการ
-
หากเป็นกรณีโอนผิดในธนาคารเดียวกัน ทางธนาคารจะติดต่อผู้รับโอน เพื่อการยินยอมคืนเงินให้เรา แต่หากเป็นกรณีต่างธนาคาร ก็จะมีการประสานงานกับฝั่งธนาคคารของผู้รับโอนอีกทีหนึ่ง
-
การแจ้งผลที่ได้จากการประสานงาน ทั้งในกรณีธนาคารจะโอนเงินคืนเราทันทีเมื่อได้การยินยอมคืนเงิน (กรณีไม่ยินยอมคืนเงิน ผู้โอนก็จะสามารถแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน เพื่อขอคำสั่งทางกฎหมายให้ดำเนินต่อผู้รับโอนต่อไปได้)
ชีวิตยังไปต่อและปลอดภัยจากกลโกง ผ่านทางธนาคารที่เราวางใจ!
เมื่อการทำธุรกรรมทางการเงินแบบสมัยใหม่ ทำให้เราไม่ต้องไปที่ธนาคารเท่านั้นอีกต่อไป แต่เลือกช่องทางได้หลากหลาย ทั้งผ่าน ATM, Internet Banking หรือแอปพลิเคชั่นธนาคารในมือถือ แน่นอนว่า เราย่อมสะดวกกว่าเดิม ในการกดโอนเงินและชำระสินค้าหรือค่าบริการต่างๆ แต่ปัญหากลับอยู่ที่ความง่ายที่อาจทำให้พลั้งเผลอหรือไม่ได้ตรวจสอบให้ดีนี่ล่ะ หากตัวเราเองทำรายการผิดพลาด หรือมีคนโอนเงินผิดเข้ามา หลังจากอ่านบทความนี้ ก็ควรหยุดคิดสักครู่ และมีสติในการทำตามคำแนะนำข้างต้นกันนะคะ เพราะไม่ใช่ว่าเราจะแก้ปัญหาไม่ได้ซะทีเดียว. แต่อย่างไรแล้ว การได้เงินกลับคืนมาก็ดำเนินการยากอยู่ไม่น้อย จึงควรลดความผิดพลาดตรงนี้ที่ตัวเราค่ะ โดยการตรวจสอบความถูกต้อง และเช็คให้ดีก่อนยืนยันการทำรายการทุกครั้ง เพราะสติ เป็นสิ่งที่เราต้องมีในการใช้ชีวิตให้ปลอดภัย และลดปัญหาจากการถูกหลอกจากมิจจฉาชีพนั่นเอง!
เบญภา
แม้แต่การโอนเงินเดี๋ยวนี้ก็สามารถเป็นช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนกันนะคะ บทความนี้ทำให้ฉันเห็นเลยค่ะว่าการที่ เราทำธุรกรรมการเงินผิดพลาด ก็มีช่องทางเหมือนกันที่จะช่วยให้เราสามารถได้รับเงินคืนหรือว่าแก้ไข ซึ่งบทความนี้ก็ใช่ฉันเห็นว่าเป็นไปได้ขาดที่จะช่วยให้เราสามารถทำธุรกรรมหรือแก้ไขรายการได้ โดยที่ไม่ถูกมิจฉาชีพเข้ามาสวมรอย
ไนท์
ผมไม่เคยโอนเงินผิดไปหาบัญชีคนอื่น แต่ว่าเคยมีคนโอนเงินผิดเข้ามาบัญชีผมเหมือนกันนะครับโอนเข้ามาไม่เยอะแล้วทางธนาคารก็ติดต่อมาคือที่ผมให้เขาโอนกลับคืนไปเท่านั้น ไม่ได้ยุ่งยากเลย เพียงแต่มันก็ทำให้เห็นว่าการทำธุรกรรมการเงินเองก็มีโอกาสที่เราจะทำผิดพลาดด้วย แต่ทีนี้การดำเนินการมันจะยากหรือง่ายก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายที่เราโอนผิดไปเนี่ยเขาคุยด้วยรู้เรื่องหรือเปล่า
แตงไทย
ก็ขอคืนได้นะ แต่ว่ามันมีขั้นตอนที่ต้องเตรียมอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ถ้าโอนเงินส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยผิดบัญชีหรอก ส่วนใหญ่จะเป็นจำนวนมากกว่าพวกApp Banking ของธนาคารต่างๆเนี่ยมันจะมีสมุดที่เราสามารถเก็บเลขบัญชีของคนที่เราโอนเป็นประจำได้ ก็เลยไม่ค่อยโอนผิดบัญชีกันหรอกก่อนจะโอนมันก็จะมีบอกชื่อบอกธนาคารของคนที่เราจะโอนไปอยู่โอกาสโอนผิดบัญชีนะมีน้อย แต่โอนจำนวนเงินผิดนะมีเยอะ
แพรวา
หลายคนคิดว่าการให้เลขบัญชีของเรากับใครก็ได้ ไม่เป็นเรื่องอันตราย แต่จริงๆแล้วน่ากลัวกว่าที่เราคิดนะค่ะ เพราะคนอื่นสามารถเอาไปทำสิ่งผิดกฎหมายได้ ทางที่ดี เราควรจะจำกัดการบอกข้อมูลเลขบัญชีของเราเฉพาะคนที่เรารู้จักและสนิทด้วยเท่านั้น เพราะถ้ามีเงินโอนเข้ามาจากที่แปลก เราจะรู้ได้ทันทีว่ามาจากไหน เราให้เลขกับใครไปบ้าง รู้เร็วจะได้จัดการเร็วได้