การคิดจะมีบ้านสักหลังในสมัยนี้ อาจก่อหนี้และเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหลายคนอยู่เหมือนกัน! ไม่ว่าจะมาจากความจำเป็น หรือสภาพการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เราต้องสร้างหนี้ เช่น แต่งงาน มีลูก หรือต้องการขยับขยายครอบครัว หนึ่งในปัจจัยสี่ อย่างคำว่า ‘ที่อยู่อาศัย’ ก็ทำให้การมองหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้

ใครกำลังกังวลอยู่ว่า  ‘สินเชื่อบ้าน’ ควรเริ่มต้นอย่างไรให้กู้ผ่าน ผ่อนต่อไปได้อย่างลุล่วง และวางแผนเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างฉลาด เพื่อจะทำให้การมีบ้านสักหลังก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเรา ลองมาดู 7 Tips ที่ MoneyDuck นำมาฝากกันได้เลย!

ความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยบ้าน

ความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยบ้าน

ลักษณะพิเศษของสินเชื่อบ้าน คือ ระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ยาวนาน โดยมากสุดอาจสูงถึง 30 ปี ก่อนขอกู้เราจะต้องเข้าใจว่าสิ่งนี้ ถือเป็นหนี้ที่ต้องใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตเลยทีเดียวกว่าจะผ่อนหมด จึงต้องพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านให้ดีและเหมาะกับเราที่สุด. โดยธนาคารจะมีวิธีคิดอยู่ 2  แบบ คือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ ในช่วงเวลาที่กำหนด หรือช่วง 3 ปีแรกของการกู้ และ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของแต่ละธนาคาร และอ้างอิงจากดอกเบี้ย MLR , MOR และ MRR

โดยสินเชื่อบ้านยังเป็นการคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยในแบบลดต้นลดดอก แสดงว่า ถ้าเราจ่ายหนี้ในแต่ละงวดแบบเท่าๆกัน งวดแรกๆก็จะถูกจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ย ยอดเงินต้นจะยังคงสูงเหมือนเดิม แต่เมื่อผ่อนไปสักระยะ จำนวนดอกเบี้ยก็จะค่อยๆลดลงตามจำนวนเงินต้น  ดังนั้น ถ้าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านของเราเพิ่มขึ้น เงินที่ต้องผ่อนในแต่ละงวดก็จะตัดเงินต้นได้น้อย เป็นเหตุให้ต้องเพิ่มจำนวนการผ่อนต่องวด หรือผ่อนนานขึ้นอีก. จึงต้องวางแผนในเรื่องนี้ให้ดี เพราะยิ่งผ่อนนานก็ยิ่งมีภาระดอกเบี้ย

รายได้ vs ค่าใช้จ่าย

รายได้ vs ค่าใช้จ่าย

ต่อมา คือ การเช็คสถานะทางการเงินของเรา ในเรื่อง ‘รายได้’ และ ‘ค่าใช้จ่าย’ เพื่อจะสามารถวางแผนการเงินได้ว่า ควรมีภาระหนี้แต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าไหร่ โดยทางที่ดีจะต้องไม่เกิน 40% ของรายได้  สมมุติว่า มีเงินเดือน 45,000 บาท ก็จะต้องมีภาระหนี้ที่ผ่อนรวมกันแล้วไม่เกิน 18,000 บาท แต่ถ้ามีหนี้อื่นๆ เข้ามาเพิ่มอีก เช่น ค่าผ่อนรถ หนี้บัตรเครดิต ก็ยิ่งทำให้จำนวนวงเงินในการขอสินเชื่อบ้านของเราลดน้อยลงด้วย

สำรวจความสามารถในการกู้

สำรวจความสามารถในการกู้

พอเรารู้สถานะทางการเงินแล้ว ก็จะรู้ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือน จึงสามารถเลือกซื้อบ้านที่มีราคาเหมาะสมและไม่สร้างภาระหนักจนเกินไป โดยหลักในการประเมินวงเงินกู้ของธนาคารจะคิดคำนวณจากสูตร

วงเงินกู้ได้สูงสุด = (1,000,000 x ความสามารถในการผ่อนแต่ละเดือน) หารด้วย 8,000

เพราะธนาคารจะให้กู้ 1 ล้านบาท ในอัตราส่วนที่สามารถผ่อนได้ 8,000 บาทต่อเดือน ถ้าผ่อนได้ เดือนละ 10,000 บาท ก็จะกู้ได้สูงสุด 1,250,000 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอาจมีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเข้ามา เช่น ระยะเวลาในการผ่อนชำระ เรื่องอัตราดอกเบี้ย หรือการมีผู้กู้ร่วม ที่จะทำให้ความสามารถในการกู้ขึ้นเราเพิ่มมากขึ้นได้ โดยอาจสามารถเข้าไปปรึกษากับทางเจ้าหน้าที่ของธนาคาร

วางเงินดาวน์ให้เยอะ

วางเงินดาวน์ให้เยอะ

การวางเงินสำหรับดาวน์บ้าน โดยมากจะอยู่ที่ 5 - 20% ของราคาบ้าน แล้วสัดส่วนที่เหลือค่อยไปทำการขอสินเชื่อจากธนาคาร. แต่ถ้าใครเลือกการจ่ายเงินดาวน์แบบน้อยสุด ถึงเราจะไม่ต้องใช้เงินสดของตัวเองมาก แต่ก็จะแลกมาด้วยภาระในการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้น หากเลือกวางเงินดาวน์ให้เยอะขึ้นประมาณ 20 - 30% ขอราคาบ้าน ก็จะช่วยประหยัดในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านไปได้

ดังนั้น เพื่อจะสามารถมีเงินไปดาวน์บ้านได้ในระดับแสน เราจึงต้องวางแผนให้ดี อาจเริ่มโดยการแบ่งเงินไปลงทุนในทุกๆเดือน ให้มีผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี เพื่อการเพิ่มระดับของเงินก้อน เพราะยิ่งเราวางจำนวนเงินดาวน์ได้มากเท่าไหร่ จำนวนเงินต้นก็จะลดลง และประหยัดดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายลงไปด้วย

โปะด้วยเงินก้อน

โปะด้วยเงินก้อน

ในช่วงระยะเวลาการผ่อนบ้าน ถ้าเรามีจำนวนเงินก้อนเข้ามา การเลือกวิธีโปะหนี้ในจำนวนเงินที่มากขึ้น สลับกับการผ่อนตามอัตราขั้นต่ำในแต่ละเดือนที่ธนาคารกำหนด เช่น โปะด้วยเงินก้อน 1 แสนบาท ที่ได้มากจากการลงทุน หรือโบนัสในทุกๆ ปี เพื่อลดยอดเงินกู้ จากเดิม 1,250,000 ก็จะทำให้ยอดเงินกู้คงเหลือแค่ 1,150,000 ยอดการผ่อนชำระต่อเดือนก็จะลดลง และสามารถประหยัดดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายได้มากขึ้น. วิธีนี้จึงเหมาะกับคนที่มีรายได้พิเศษแบบก้อนใหญ่ปีละครั้ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้จากสินเชื่อบ้านก่อนที่จะนำไปใช้จ่ายกับสิ่งอื่นๆ

เพิ่มยอดผ่อน

เพิ่มยอดผ่อน

วิธีชำระหนี้ในแต่ละเดือนให้มากกว่าอัตราขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดก็ยังเป็นทางออกที่ควรเดิน แม้ในช่วงการเริ่มต้นทำงาน หรือขอสินเชื่อบ้านในตอนแรก เราอาจยังไม่มีฐานเงินเดือนที่สูงมากนัก จึงเลือกระยะเวลาในการผ่อนนานที่ 25-30 ปี เพื่อการลดภาระค่าใช้จ่าย แต่หากเมื่อไหร่ที่ฐานเงินเดือนเราขยับ หรือมีช่องทางในการเพิ่มรายได้พิเศษ ก็ควรจะเพิ่มยอดผ่อนในแต่ละเดือนให้สูงขึ้นตาม เช่น วิธีการผ่อนแบบขันบันได  เพราะยิ่งเราสามารถเพิ่มยอดผ่อนต่อเดือนได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยประหยัดดอกเบี้ยและปลดหนี้ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น. วิธีนี้จึงเหมาะกับคนที่จัดสรรเงินแต่ละเดือนได้ดี ถึงจะนำมาจัดการหนี้สินเชื่อบ้านแล้ว ก็ยังมีเงินเหลือเพื่อใช้จ่ายอย่างเพียงพอ

แผนการรีไฟแนนซ์

แผนการรีไฟแนนซ์

วิธีสุดท้าย หากเราผ่อนมาระยะนึงแล้วรู้ว่าหนี้สินเชื่อบ้านเริ่มเป็นภาระหนักที่เกินจะแบก หรือเคยติดต่อสาขาธนาคารที่ไปขอกู้ เพื่อเจรจาขอลดดอกเบี้ยไปแล้วแบบตรงๆ โดยใช้เหตุผลการเป็นลูกค้าชั้นดี จ่ายตรงไม่ล้าช้า หรือไม่มีประวัติหนี้เสีย แต่ก็ยังไม่ไหวกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านในปัจจุบัน วิธีการขอสินเชื่อก้อนใหม่เพื่อมาจ่ายในหนี้ก้อนเดิม ด้วยแผนการรีไฟแนนซ์  ก็จะทำให้เราได้อัตราดอกเบี้ยในแบบที่ถูกลง เมื่อธนาคารพาณิชย์เริ่มทำการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว. แต่ก่อนทำการรีไฟแนนซ์จะต้องดูด้วยว่าเราจะคุ้มได้คุ้มเสียแค่ไหน ในเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมจากค่าดำเนินการ

คิดจะผ่อนบ้าน ต้องผ่อนหนักให้เป็นเบา ด้วยแผนการสู่อนาคต!

คิดจะผ่อนบ้าน ต้องผ่อนหนักให้เป็นเบา ด้วยแผนการสู่อนาคต!

‘บ้าน’  หรือ 1 ในปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิต จัดเป็นความฝันที่หลายๆคนต้องการเติมเต็ม ซึ่งหากมีหน้าที่การงานและรายได้ที่มั่นคงแล้ว การมีบ้านเป็นของตัวเอง โดยขอกู้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ย่อมเป็นแผนการณ์ที่ดีเพื่อก้าวสู่อนาคต. แม้สินเชื่อนี้จะมีลักษณะพิเศษ คือ ระยะเวลาในการผ่อนชำระที่นานกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ แต่การคิดจะผ่อนบ้านเราต้องรู้จัก ผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะยิ่งผ่อนนาน ก็ยิ่งเสียดอกเบี้ยมาก จึงต้องหาวิธีในการปลดหนี้ให้เร็วที่สุด

หวังว่า 7 Tips ที่เราได้คุยกันไป จะช่วยลดภาระเรื่องอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านของหลายคนได้อย่างฉลาดและรอบคอบมากขึ้น เพราะหากเกิดความผิดพลาดหรือไม่ได้วางแผนให้ดี ย่อมสร้างปัญหาตามมา ดังนั้น เราจะต้องศึกษาข้อมูลก่อนการกู้ซื้อบ้านอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระนั้นน้อยลงไปมากที่สุด ก็จะสร้างหนทางในการปลดหนี้ได้ดีกว่านั่นเอง!