‘ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเงิน!!’ นี่คงไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง ออกจะเป็นคำพูดติดตลกด้วยซ้ำสำหรับคนที่ไม่ต้องการให้เพื่อนๆหรือคนรู้จักมาหยิบยืมเงิน เพราะในยุคสมัยนี้ สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการใช้ชีวิตของหลายๆคน เทคโนโลยีเลยอาจเป็นดาบสองคมทิ่มแทงผู้ใช้ เช่น ปัญหาแก๊งคนร้ายหลอกแฮ็กเงินจากบัตรดิจิทัล รวมทั้งการแชทลวงยืมเงินกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่สนิทมากหรือไม่ก็ตาม และเนื่องจากเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็ก จึงมีกฎหมายและทางออกใหม่ เพิ่มเข้ามาให้เราสนใจและตื่นตัวกันมากขึ้นด้วยเกี่ยวกับการขอยืมเงินผ่านทางแชท สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้ไหม? วันนี้เราจึงอยากนำเสนอข้อมูลดี ๆ ให้ลองศึกษากันดูว่า แชทจะเป็นหลักฐานได้อย่างไร และมีข้อควรระวังในการแชทเกี่ยวกับเรื่องเงินอย่างไรบ้าง

แชทคืออะไร

แชทคืออะไร

แชท (Chat) ก็คือ การพูดคุยกัน ออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยอาจใช้โปรแกรมแตกต่างกันไป เช่น Line , Facebook , MSN, Google talk, Yahoo Messenger, Skype แต่บ้านเราสิ่งที่ฮิตที่สุดและเป็นที่กล่าวถึงว่า แชทหลุด ก็หนีไม่พ้น โปรแกรมสนทนาออนไลน์ที่เรียกว่า LINE แล้วแชทที่จะใช้เป็นหลักฐานในการยืมเงินได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบหรือรายละเอียดอะไร จึงสามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย และถือว่าเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้ แบ่งได้ดังนี้

  • ข้อความสนทนา (Chat) คือ สิ่งที่ระบุเป็นข้อความในการขอยืมเงิน โดยจะมีจำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครที่มาขอยืมเงินเราครบถ้วย
  • บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (User Account) ในแชทนั้น จะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน และเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบแน่นอนปลอดภัยและน่าเชื่อถือ
  • หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ยืมเงิน (Slip) ต้องมีรายละเอียดในการระบุวันเวลาที่โอนเงิน  และไม่มีการแก้ไขวันเวลารับส่ง ซึ่งจากข่าวที่แชร์กันมาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สำนักงานกิจการยุติธรรม (https://www.facebook.com/weareoja/) ได้เผยแพร่ความรู้ที่ว่า ข้อความในการแชทยืมเงินกันนั้น สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้ โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการยืมเงินกันเกิน 2,000 บาท ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กล่าวถึง "ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่น ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น" นอกจากนั้น ทางสำนักงานกิจการยุติธรรมยังเน้นย้ำถึงคดีที่เคยเกิดขึ้นและให้วิธีการป้องกันและทางออกของปัญหาไว้ด้วยว่า “ในกรณีที่มีมิจฉาชีพมาแฮ็คบัญชีผู้ใช้เพื่อปลอมตัวเป็นเราและนำไปใช้ยืมเงินผู้อื่น กรณีนี้จะถือเป็นการยืมเงินหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ใช้บัญชีที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า แชทยืมเงินนั้น ไม่ได้ถูกส่งโดยตัวตนจริงๆ ของเข้าของบัญชีแชท” ดังนั้น แชทเรื่องเงิน จึงใช้เป็นหลักฐานได้จริง และเมื่อถ้าการขอยืมเงินผ่านแชท ถูกตีความว่าเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานแล้วล่ะก็ การแชทนั้นๆ ที่เราเจอก็จะถูกใช้เป็นหลักฐานได้ด้วย เช่น
  • ในแง่การปลดหนี้ สำหรับกรณีนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวไว้ว่า  การปลดหนี้ หากมีเพียงหนังสือรับรอง ก็เป็นหลักฐานถือเป็นการยกหนี้ให้ได้ ดังนั้น  ถ้าแชทก็ถือว่าเป็นหนังสือเหมือนกัน ถ้ามีการพูดแนวว่า ยกหนี้ให้ หรือ ปลดหนี้ให้ ก็จะเป็นการปลดหนี้จริงตามกฎหมายได้  ทำให้ หากเราแชทในทำนองประชดว่าจะยกหนี้ให้ ก็อาจเข้าข่ายปลดหนี้แล้วเหมือนกัน
  • ในการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป เมื่อเราทำเป็นหนังสือหลักฐานเอาไว้ ก็จะสามารถนำมาใช้ฟ้องร้องได้ ทำให้ทุกการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น เรือกสวนไร่น่า อาคารบ้านช่อง หรือซื้อขายของออนไลน์ ไม่ว่าจะมูลค่ากี่บาท ถ้ามีการแชทด้วยข้อความที่ตกลงซื้อขายกันแล้ว ก็เข้าข่ายเป็นหนังสือที่ใช้เป็นหลักฐานได้จริง และหากไม่ทำตามข้อตกลง ก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันต่อไปได้
  • พินัยกรรมแบบธรรมดาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ต้องเป็นการแชทและส่งในห้องที่มีบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 คน เพื่อเป็นพยาน จะสามารถเข้าข่ายใช้เป็นหลักฐานแสดงความประสงค์ว่าจะให้จัดการทรัพย์สินของเจ้ามรดกหลังเสียชีวิตอย่างไรบ้างได้ด้วยเช่นกัน

สิ่งสำคัญของหลักฐาน

สิ่งสำคัญของหลักฐาน

จากความหมายของแชทดังข้างต้นแล้ว เราจึงเห็นด้วยแน่ๆว่า ข้อความสนทนาในการขอกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาท ผ่านการแชท (Chat) บนระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อสังคมออนไลน์นั้นสามารถใช้เป็นหลักฐาน การกู้ยืมเงินได้จริง ซึ่งเป็นหนังสือในการฟ้องคดีตามกฎหมายได้ จึงจำเป็นที่ เจ้าหนี้ หรือ ลูกหนี้ จะต้องรู้ว่า การยืมเงินผ่านโซเชียล ผ่านสังคมออนไลน์ เท่ากับเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน และสามารถนำมาฟ้องร้องคดีได้ เหมือนที่ เพจเฟสบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ ของกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ภาพอินโฟกราฟฟิกอธิบายว่า หากเราเจอเพื่อนหรือคนที่รู้จักมาขอยืมเงิน โดยการแชท มายืมเงินทาง Line หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ และท้ายที่สุด ก็ไม่นำเงินมาคืนให้ตามที่สัญญาตกลงกันไว้ ในกรณีแบบนี้ เจ้าหนี้อย่างเรา ก็สามารถใช้ข้อความการสนทนานั้น หรือข้อความแชทยืมเงินทางไลน์มาเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินหรือฟ้องคดีได้ เพราะถือว่าเป็นหนังสือและหลักฐานการกู้ยืมเงิน ทำให้มีผู้แชร์ข้อความต่อ และแสดงความเห็นกันจำนวนมากได้ โดยจะต้องรวบรวมหลักฐานให้ครอบคลุม

การยืมเงินทางไลน์ สามารถใช้แทนสัญญากู้ยืมได้นะ แต่ต้องประกอบด้วย

  1. ข้อความสนทนา (Chat) การกู้ยืม
  2. บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (User Account)
  3. หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ยืมเงิน (Slip)

ส่วนข้อมูลที่สามารถใช้เป็นหลักฐานการพิจารณาคดีได้บ้าง ก็จะประกอบด้วย

  1. ข้อมูลที่สามารถระบุบัญชีผู้ใช้ของผู้กู้ยืมเงินได้
  2. ข้อมูลในระบบ ที่เป็นที่นิยมปลอดภัย และเชื่อถือได้  เช่น แอพพลิเคชั่น Line ,  Facebook เป็นต้น
  3. เก็บหลักฐานทันที คือ เมื่อมีการยืมเงินและรักษาข้อมูลให้อยู่ในสภาพเดิม โดยต้องไม่มีการแก้ไข วัน เวลา ที่รับส่งข้อความ

ในส่วนของอายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน คือ

10 ปี  แต่ต้องมีการฟ้องร้องภายใน 10 ปี  โดยนับตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระคืนของเงินกู้ยืม 5 ปี    มีผลสำหรับสัญญากู้ แต่ต้องมีกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ไว้ด้วย

กฎหมายการกู้ยืมเงินที่น่าสนใจ

กฎหมายการกู้ยืมเงินที่น่าสนใจ

ในตอนนี้ เรื่องของการกู้ยืมเงิน เป็นปัญหายอดฮิตไปแล้ว และเกิดขึ้นได้ในทุกสังคมจริงๆ โดยผู้ที่เข้ามาขอยืมเงินกับเรานั้น อาจใช้สุภาษิตไทย มาเป็นกระบุง ด้วยวาจาหว่านล้อม การชักแม่น้ำทั้งห้า หรือการตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ หรือ รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ กับเจ้าหนี้ที่ใจดี ว่าจะได้เอาเงินที่จะได้รับในอนาคตอันใกล้มาชำระหนี้โดยเร็ว แต่เมื่อเจ้าหนี้ตายใจ ยินยอมมอบเงินนั้นไป กลับเข้าทางเขา เหมือนอ้อยเข้าปากช้างไปซะงั้น ยากที่จะได้เงินคืนมาแน่ๆ  ทำให้ต่างคนปวดหัวไม่น้อยกับเรื่องเหล่านี้

เมื่อก่อน การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท และไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ยืม เมื่อก่อนเราอาจไม่สามารถที่จะดำเนินคดีกับลูกหนี้หรือผู้กู้ยืมได้เลย แม้ว่าจะมีหลักฐานด้วยข้อความสนทนา ว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง ผ่านทางแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่า  LINE , Facebook , ข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ , หรือ Email ก็ตาม เนื่องจากหลักฐานเหล่านี้ไม่ใช่หลักฐานของการกู้ยืมเงิน และไม่มีการลงลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ที่ว่า ในการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้าไม่ได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ลงลายมือชื่อผู้ยืมเงิน จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ แต่ปัจจุบัน เมื่อแชทคือสัญญา สามารถกู้ยืมเงินผ่านสื่อออนไลน์ได้ แม้ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเป็นหลักฐาน แต่ก็ถือเป็นสัญญาได้จริงแล้ว หากใครใกล้ชิดเราถูกยืมเงิน ผ่านการแชทบนระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อออนไลน์แบบนี้  ถึงเราไม่มีหลักฐานในการฟ้องลูกหนี้หรือผู้กู้ยืมแบบนี้ แต่ในเบื้องต้น ก็ยังสามารถสร้างหลักฐาน เพิ่มขึ้นในการมัดตัวได้อีกด้วย อย่าเพิ่งใจร้อนเปิดฉากด่าลูกหนี้ แต่ลองพยายามคุยดีๆ ก่อน หรือใจป้ำหน่อย เอาเอกสารไปให้เซ็นที่ทำงานก็ยังได้ แบบกันไว้ก่อน เพื่อขอให้ลูกหนี้หรือผู้กู้ยืมลงลายมือชื่อในบันทึกหรือเป็นรูปแบบจดหมายโต้ตอบก็ได้ ซึ่งเมื่อมีการลงลายมือชื่อของลูกหนี้หรือผู้กู้ยืม ก็สามารถนำมาเป็นบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อีกชั้นหนึ่งเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเรื่องการกู้ยืมเงินเกิน 2000 บาทนี้ ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า เพื่อกันไว้ก่อน ตามปกติแล้วเราต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานและป้องกันการเบี้ยวหนี้ของลูกหนี้นั่นแหล่ะ แต่เมื่อปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่เข้ามาช่วยเพิ่มบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น จึงทำให้เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ต้องรับมือ หรือการที่ ลูกหนี้ ไม่มี ไม่หนี แต่ไม่จ่าย ง่ายขึ้น โดยการแคปเจอร์หลักฐานการยืมเงินผ่านแชทที่คุยกันไว้ โดยมีหลักฐานสำคัญต่างๆแบบที่ยกตัวอย่าง ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถเบาใจได้เปราะหนึ่ง หรือเพื่อความมั่นใจ ก็สามารถ สอบถามเพิ่มเติมอีกได้ที่หน่วยงานของรัฐ  สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โทร 02-1416985-99 เป็นต้น

ประโยชน์ของแชท และวิธีป้องกันตัวจาก Line ยืมเงิน!

ประโยชน์ของแชท และวิธีป้องกันตัวจาก Line ยืมเงิน!

เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่ผู้คนทำกิจกรรมต่างๆ กันผ่านสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คกันมากขึ้น แม้มีความความสะดวก รวดเร็วอย่างมากในแทบทุกเรื่อง แต่เพียงแค่ส่งข้อความ หรือ แชท (Chat) ผ่านแอปพลิเคชันยอดฮิตอย่าง ไลน์ เฟซบุ๊ก แค่ไม่กี่คำก็อาจกลายเหมือนเป็นดาบสองคม ที่ส่งผลให้คนยุคนี้ทำอะไรด้วยความขาดสติ และประมาทได้.  ‘การแชทยืมเงินทางไลน์’  นับเป็นคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงนี้ เมื่อ "แชท" สามารถใช้เป็นหลักฐานในการยืมเงินได้  เป็นการแสดงตัวตนและเจตนาอีกช่องทางหนึ่ง เราจึงควรให้ความสำคัญในการแสดงความเห็นหรือส่งข้อความ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม. ซึ่งการเก็บหลักฐานหากโดนแชทยืมเงิน ก็คือ ต้องเก็บข้อความแชท ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน เห็นได้ชัดว่าใครขอยืมเงิน มีหลักฐานบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน ในแชทต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ยืมเงินที่เชื่อถือได้

นอกจากนี้ต้องมีหลักฐานการโอนเงิน ระบุวันเวลาที่โอน ยอดเงิน หากมีหลักฐานทั้งหมดสามารถนำไปฟ้องร้องได้ โดยมีจำนวนเงินต้องเกิน 2,000 บาท และอายุความฟ้องร้อง ไม่เกิน 10 ปี แต่ที่สุดแล้ว ก็ไม่มีวิธีใดดีไปกว่า การไม่เป็นหนี้ การคิดก่อนพิมพ์ คิดก่อนแชท เพราะหากเพลี่ยงพล้ำ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการให้ยืมเงินผ่านสื่อออนไลน์ หรือ การแฮกบัญชีผู้ใช้เพื่อปลอมตัวเป็นเราและนำไปใช้ยืมเงินผู้อื่น ก็เป็นสิ่งที่ชวนปวดหัวเมื่อพิสูจน์กันแน่ๆ  ดังนั้น การเข้าถึงระบบแชทในแอปพลิเคชันต่าง ๆ จึงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เช่น รหัสผ่าน (Password) ควรเปลี่ยนบ่อย ๆ , ไม่ควรให้ระบบจำรหัสผ่าน หรือใส่รหัสผ่านเองทุกครั้งที่เข้าระบบ , ควรเก็บข้อมูลบัญชีผู้ใช้ และรหัสผ่านต่าง ๆ ไว้เป็นเรื่องเฉพาะตัว , ล็อกสมาร์ตโฟนทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งานแล้ว และควรเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างน้อยทุก ๆ 3 เดือน เพื่อความปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพด้วยนั่นเอง