‘อาชีพฟรีแลนซ์’ หรือที่เราคุ้นเคยอีกว่า ‘อาชีพอิสระ’  เป็นเหมือนการรับงานเองคนเดียว เป็นเจ้าของกิจการเองคนเดียว หรือบริหารเองอย่างเต็มตัว ไม่มีเจ้านาย ไม่มีเงินเดือนที่แน่นอนจากนายจ้าง หรือมีผู้ช่วยก็ได้ แต่ไม่เกิน 5 คน ถึงแม้ว่าผลกำไรที่ได้ก็มาเต็มหรืออาจจะไม่จำกัด แต่ความสามารถและผลงานนั่นล่ะที่จะเข้ามาวัดตรงจุดนั้น. หลายคนอาจจะบอกว่าอาชีพนี้มันดีจัง ดูได้รับอิสระที่มากกว่าอาชีพอื่นๆ ซึ่งใช่มันก็ดี วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาดูความหมายกันไปเลยว่าอาชีพแบบนี้ดียังไงหรือมีข้อเสียแบบไหนบ้าง แต่เรื่องหลักๆก็คือเรื่องการทำ ‘สินเชื่อ’ ด้วย อาชีพฟรีแลนซ์ทำไมถึงขอยากกว่าอาชีพทั่วไปน่ะ?! ใครทีไม่ได้ทำอาชีพนี้ก็อ่านไว้เป็นความรู้ได้ แต่ใครที่กำลังรับมือกับการวางแผนเรื่องชีวิตและการเงินเมื่อเป็นฟรีแลนซ์ ก็มาดูด้วยกันเลยว่า เราจะทำตามแผนเรื่องคำนวณรายได้ หาความสามารถในการชำระคืน หรือมีผู้ร่วมกู้ และหลักฐานอะไรบ้าง เพื่อจะทำให้การขอสินเชื่อของเราผ่านไปได้ด้วยดี และฉลาดมากขึ้น มาดูไปพร้อมๆกันเลยจ้า

เข้าใจความหมายและรู้ข้อดีข้อเสียในอาชีพของตน

เข้าใจความหมายและรู้ข้อดีข้อเสียในอาชีพของตน

อาชีพฟรีแลนซ์ (Freelance) ถือเป็นอาชีพรับจ้างอิสระที่เราคุ้นเคย เพราะไม่ขึ้นต่อหน่วยงานใดๆ หรือองค์กรเฉพาะ ทำให้เราต้องจัดตารางเวลาและการทำงานของตนเอง ส่วนการรับเงินก็ใม่ใช้ในแบบค่าจ้าง แต่จะเป็นการตกลงกันแบบที่พอใจทั้งฝั่งเราและผู้ว่าจ้าง. สังคมทำงานในปัจจุบัน มีคนหันมารับจ้างฟรีแลนซ์กันมากขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นร้อยละ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะชอบลักษณะของงานที่อิสระ เลือกงานที่เหมาะกับตัวเราเองได้ แต่ก็ต้องแบ่งเวลาในการพักผ่อนให้ดี ถ้าไม่มีการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือโหมงานหนักจนเกินไป ก็จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพระยะยาวของเราแน่ๆ

ข้อดี ของอาชีพนี้ ก็คือรายได้ที่จะเข้ามาได้หลายทาง ซึ่งถ้านำมารวมๆกัน แต่ละที่หรือแต่ละเดือน บางครั้งก็สูงกว่ารายได้ประจำหลายเท่าเลยด้วย ถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อย แต่อยู่ที่เราจะทำได้สำเร็จลุล่วงแค่ไหน โดยเราจะต้องวางแผนให้ได้ตามเป้าหมาย และทำให้ได้จริง. ส่วนข้อเสีย ก็คงเป็นเรื่องของ ความไม่มั่นคงและลักษณะงานที่ไม่ค่อยแน่นอน และอาจถูกหลอกหรือโกงจากผู้ว่าจ้างได้ง่าย และไม่มีสวัสดิการรองรับ หรือบำนาญในชีวิต

มีการวางแผนในเรื่องที่สำคัญอย่างดี

มีการวางแผนในเรื่องที่สำคัญอย่างดี

ถ้ารักจะเป็นฟรีแลนซ์ เราคงปล่อยให้ชีวิตชิลล์ไปวันๆ คงไม่ได้แล้ว! เพราะการเป็นนายตัวเอง ก็จะต้องรับผิดชอบในหลายๆด้านเพิ่มขึ้น ทั้งโอกาสประสบความสำเร็จหรือเจอปัญหา จึงต้องมีการวางแผนอย่างดีทั้งระเบียบวินัยในชีวิต และวางแผนการเงินที่เหมาะสม เพื่อสามารถต่อยอดในชีวิตของเราต่อไปได้ โดยเรื่องหลักๆ ที่เราไม่ควรพลาด ก็จะมี

  • สภาพคล่องทางการเงิน ในจุดนี้แม้อาชีพฟรีแลนซ์จะมีรายได้ไม่แน่นอน เราก็อาจจะต้องเตรียมเงินเพื่อเผื่อไว้สำหรับสภาพคล่องเรามากกว่าปกติสักหน่อย เช่น ครอบคลุมค่าใช้จ่าย 8 - 12 เดือน และมีบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อกันเงินสำรองอย่างเหมาะสมได้ง่ายขึ้น
  • ประกันสุขภาพ เมื่อชาวฟรีแลนซ์ต้องรับผิดชอบตัวเอง ต่างจากพนักงานประจำที่อาจมีประกันสุขภาพจากนายจ้างหรือบริษัททำให้ หรือประกันกลุ่ม เราจึงต้องวางแผนเรื่องประกันสุขภาพที่เหมาะกับชีวิตของเรา โดยอาจดูจากโรงพยาบาลที่เราเลือกใช้ และระดับความคุ้มครองตามกรมธรรม์
  • ประกันชีวิต สำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ พูดได้ว่าทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้จริงๆ ไม่ใช่ร้านค้า บริษัท หรืออุปกรณ์ใดๆ แต่มันคือ ‘ตัวเรา’ ทำให้มองข้ามความสำคัญในการวางแผนเรื่องประกันชีวิตไปไม่ได้ ยิ่งหากมีภาระหนี้สิน หรือรับผิดชอบทางบ้านด้วยล่ะก็ ควรเลือกทุนประกันที่เหมาะสมและครอบคลุม เช่น แบบช่วงเวลา หรือยูนิตลิ้งค์ เป็นต้น
  • การลงทุน แม้เราจะมีความไม่แน่นอนของรายได้ ไม่ควรลงทุนในทรัพย์สินที่เสี่ยง เช่น หุ้น แต่เรื่องนี้ก็ไม่ควรขาด อาจจะมองหา กองทุน LTF หรือ RMF ไว้ก็ได้ อาจออมสัก 10-15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ เป็นต้น
  • การวางแผนเกษียณและภาษี เราต้องดูสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ด้วยและใช้ให้คุ้มค่า เช่น ทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ลดหย่อนได้ หรือ LTF และ RMF เต็มสิทธ์ของตน และศึกษามาตรา 40(2) ให้รอบคอบ

การบริหารรายได้ และความสามารถในการชำระคืน ก่อนการขอสินเชื่อ

การบริหารรายได้ และความสามารถในการชำระคืน ก่อนการขอสินเชื่อ

หลายคนอาจบอกว่า อาชีพฟรีแลนซ์ เสียเปรียบ พนักงานประจำทุกทีเมื่อต้องการขอสินเชื่อ ขอกู้อะไรธนาคารก็ไม่ค่อยจะปล่อยผ่านเลย ปัญหานี้จะหมดไปถ้าเรามีการบริหารจัดการรายได้ของเราอย่างดี ไม่ปล่อยให้บัญชียุ่งเหยิงในเรื่องรายรับรายจ่ายแบบแยกไม่ออก รวมทั้งรู้จัก ดูความสามารถในการชำระคืน ในเงินที่เราไปขอกู้มา ว่าจะสามารถจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยได้อย่างสม่ำเสมอแค่ไหน ก่อนการขอสินเชื่อ!

ธนาคารมักจะดูรายได้ของเรา ว่ารายรับสม่ำเสมอแค่ไหน ถ้าเราเตรียมหลักฐานเรื่องนี้ ไม่มีภาระหนี้อื่นมากนัก เขาก็จะเห็นความสามารถในการคืนชำระของเราแน่นอน หรือแม้แต่ละเดือนรายได้อาจไม่เท่ากัน บางเดือนมาก บางเดือนน้อย ก็ไม่แย่ ถ้าเรามีการเดิน Statements หรือมีรายได้ในบัญชีธนาคารทุกเดือน เปลี่ยนเงินสดเข้าไปในนั้น อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปก่อนการจะเดินเรื่องขอสินเชื่อของเรา อาจยื่นพร้อมเอกสารพิสูนจ์รายได้ด้วยยิ่งดี เช่น เอกสาร 50 ทวิ สัญญาจ้างหรือใบเสร็จรับเงิน สัก 6 เดือนย้อนหลัง หรือการวางเงินดาวน์ไปก่อนเลยในกรณีซื้อบ้าง เมื่อวงเงินที่เราขอกู้น้อยลง ภาระในการผ่อนชำระต่องวดก็น้อย โอกาสอนุมัติก็จะยิ่งเพิ่มได้

การหาผู้กู้ร่วม หรือคนค้ำประกัน

การหาผู้กู้ร่วม หรือคนค้ำประกัน

วิธีที่ง่ายที่สุดที่เราจะวางแผนแล้วสินเชื่อที่ขอมีโอกาสอนุมัติที่สุด ก็คือ การหาผู้กู้ร่วมที่มีรายได้แน่นอน เมื่อธนาคารตรวจสอบตรงจุดนี้ ก็จะอนุมัติสินเชื่อในเงื่อนไขแบบที่มีผู้กู้ร่วมได้ โดยยอดสินเชื่อก็จะประเมินจากรายได้ทั้งของเราและผู้กู้ร่วมรวมกัน จึงอาจจะมากกว่าการขอกู้คนเดียวด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องเตรียมเอกสารแสดงรายได้ และดูรายละเอียดจากธนาคารนั้นๆที่เราขอสินเชื่อให้รอบคอบ. โดยส่วนมาก บุคคลที่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานประจำในบริษัท หากเราสามารถให้เขามากู้ร่วม หรือค้ำประกันได้ ก็จะช่วยเราให้มีเครดิตที่ดีขึ้น แล้วโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อก็ทำได้ง่ายขึ้น

ส่วนใหญ่ผู้ร่วมกู้ หากมีสายสัมพันธ์แบบเครือญาติ หรือเป็นพี่น้องกันจริงแต่มีคนละนามสกุล ก็จะต้องมีเอกสารแสดงทะเบียนบ้าน หรือสูติบัตรด้วยเพื่อระบุความสัมพันธ์ หากเป็นสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็ต้องมีหลักฐานอื่นประกอบ หรือหนังสือรับรองบุตร เพราะทางกฎหมายถือว่าเป็นหนี้ร่วม เป็นความรับผิดชอบร่วมต่อธนาคาร และยอมรับชำระหนี้ในกรณีที่อีกคนนึงไม่สามารถชำระหนี้ด้วย

หลักฐานในการขอสินเชื่อและเงื่อนไขที่เหมาะกับตน

หลักฐานในการขอสินเชื่อและเงื่อนไขที่เหมาะกับตน

แม้อาชีพฟรีแลนซ์จะต้องรับงานหลายงาน แต่กลับมีรายได้ไม่แน่นอน และไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง จึงส่งผลให้สถาบันการเงินอาจจัดเราอยู่ในกลุ่มคนไม่มีความมั่นคงทางรายได้ และไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระคืน ถึงแม้ว่าจำนวนเงินที่มีอาจสูงกว่าคนทำงานประจำก็ตาม เราจึงต้อง มีวิธีในการสร้างหลักฐานทางการเงินขึ้นมา. และเมื่อเราคิดว่าต้องการบ้านในราคาไหน อยากจะกู้วงเงินแค่ไหน ลำดับต่อมาที่เราต้องเลือกดีๆ คือเงื่อนไขที่มีในแต่ละธนาคาร รวมถึงดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนชำระ ตลอดจนระยะเวลากู้ และอายุของผู้ที่จะกู้ บางแห่งก็ยังมีข้อเรียกร้องที่เราต้องให้ความสำคัญ

เมื่อเราไม่ได้เป็นพนักงานประจำ ก็อาจจะต้องยื่นเพิ่ม พวกใบประกอบวิชาชีพ เช่น นักบิน เภสัชกร หรือใบอนุญาตในการขายสินค้าใดๆ หรือประกัน แต่หากไม่มีหรือเข้าข่าย ก็เตรียมหลักฐานส่วนสำเนาทะเบียนการค้า เอกสารการเสียภาษี หรือทะเบียนพาณิชย์ และสัญญาจ้างที่มีชื่อเราและยืนยันที่มาของรายได้ชัดเจนว่ามาจากไหนบ้างก็ได้

จัดการกับความน่ากลัวในการขอสินเชื่อฉบับชาวฟรีแลนซ์ได้ไม่ยาก!

จัดการกับความน่ากลัวในการขอสินเชื่อฉบับชาวฟรีแลนซ์ได้ไม่ยาก!

เป็นความจริงว่า รองจากพนักงานประจำ ก็คงเป็นฟรีแลนซ์นี่ล่ะ ที่หลายคนเลือกมาทำอาชีพอิสระแบบนี้กันมากขึ้น ใครที่อาจเบื่องานบริษัท หรืออยากออกมาทำอะไรที่เป็นของตัวเองมากขึ้น อยากเลือกการเป็นนายตัวเอง และโอกาสมีรายได้สูงกว่างานประจำ ก็มักจะเริ่มด้วยการเป็นฟรีแลนซ์กันก่อน ถึงแม้ว่ารายได้ของผู้ที่เลือกอาชีพฟรีแลนซ์จะไม่แน่นอน ไม่มีเอกสารแสดงตัวตัวที่ชัดเจนเท่าพนักงานบริษัท จะขอกู้หรือขอสินเชื่อก็อาจจะไม่ง่ายเท่าเขา แต่ก็ไม่ได้ยากเสมอไป ถ้าเรามีการวางแผนที่ดี!

แม้ใครอาจเคยมีปมถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อมาบ้างแล้ว แต่เราอย่าถอดใจ เราสามารถจัดการกับความน่ากลัวในการขอสินเชื่อนั้นได้ ถือว่าเป็นแบบฉบับในการขอสินเชื่อของชาวฟรีแลนซ์เลยก็คือ เราสามารถทำให้อาชีพของเราถูกรับรองและรับรู้ตามกฎหมายด้วยการจดทะเบียนพาณิชย์ได้ไม่แพ้อาชีพใดๆ คล้ายการจดทะเบียนเป็นเจ้าของกิจการนี่ล่ะ แม้อาจเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่ก็แลกกับความคุ้มค่าเพื่อที่ธนาคารจะยอมพิจารณาสินเชื่อให้เราได้ง่ายขึ้น. การมีเงินในบัญชีมากกว่าวงเงินที่ขอกู้ก็เป็นสิ่งที่เราจะเตรียมตัวได้เช่นกัน เพราะเงินฝากสามารถให้เป็นหลักค้ำประกันได้ โดยเฉพาะเงินฝากกับสถาบันการเงินหรือธนาคารที่เราจะขอสินเชื่อยิ่งดี เขาย่อมมองหาลูกค้าใกล้ตัวที่ไม่ผิดสัญญา แถมสร้างดอกเบี้ยก้อนใหญ่ให้กับเงินออมเราง่ายขึ้นด้วย แต่ต้องมีอายุครบ 1 ปีขึ้นไป มียอดเงินเข้าออกสม่ำเสมอ

อีกเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามและถือเป็นการเตรียมตัวในการขอสินเชื่อ ก็คือภาษีนี่ล่ะ เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือที่เรารู้จักในตัวย่อ ภ.ง.ด. 90  จะถือเป็นหลักฐานยืนยันว่าเราเป็นผู้มีรายได้จริงๆน่ะ จึงไม่ควรลืมที่จะแนบไปด้วยเมื่อต้องขอสินเชื่อ. คราวนี้ เมื่อเราเข้าใจถึงลักษณะรวมทั้งข้อดีข้อเสียของอาชีพฟรีแลนซ์ไปแล้วเหมือนตอนต้นของบทความ เราก็สามารถวางแผนในเรื่องชีวิตและการเงินที่สำคัญๆได้เป็นอย่างดี เช่น การบริหารรายได้ มีความสามารถในการชำระคืนที่ดี เตรีมหลักฐานในการขอสินเชื่อและเลือกเงื่อนไขแบบที่เหมาะกับเราที่สุด ถ้าจำเป็นก็หาผู้ร่วมกู้ได้ ก็จะช่วยลดความน่ากลัวในการขอสินเชื่อสำหรับชาวฟรีแลนซ์ไปอย่างมากเลยล่ะ!