การวางแผนทางด้านการเงินของฟรีแลนซ์นั้นค่อนข้างจะลำบากกว่าคนที่มีเงินเดือนดหน่อยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางแผนค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ไม่ใช่ว่าฟรีแลนซ์อย่างเราๆจะไม่สามารถวางแผนทางด้านการเงินได้ ในความเป็นจริงนั้นไม่ว่าจะอาชีพในการวางแผนทางการเงินถือว่าเป็นสิ่งที่พื้นฐานสำหรับการใช้ชีวิตของเราเลยก็ว่าได้ หากวางแผนไม่ดีก็จะทำให้เรานั้นบริหารเงินในค่าใช้จ่ายต่างๆไม่ถูก แต่ถึงตอนนี้แล้วเพื่อนๆที่กำลังอ่านบทความของเราทาง MoneyDuck อยู่ เพื่อนๆได้เข้ามาอ่านถูกบทความแล้วล่ะค่ะ วันนี้เราจะพาเพื่อนๆไปอ่าน เรื่องที่ว่าฟรีแลนซ์ วางแผนการเงินยังไง ให้มั่นคง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ วางแผนการเงินก่อนเป็นฟรีแลนซ์ ที่นี่
5 วิธีฟรีแลนซ์ วางแผนการเงินยังไง ให้มั่นคง ไม่เป็นหนี้
เมื่อรายรับไม่มั่นคง เราก็ต้องวางแผนการเงินให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อให้ไม่ขาดสภาพคล่อง มีเงินสำรองฉุกเฉิน สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในยามจำเป็น แถมสามารถนำไปวางแผนระยะยาวไปจนถึงวัยเกษียณได้เลยด้วย จะมีวิธียังไงบ้าง ตามไปดูกัน
วางแผนการใช้จ่ายให้ชัดเจน
อย่างแรกที่สำคัญและถือว่าเป็นเบสิคของการวางแผนทางการเงินเลยก็ว่าได้นั่นคือการวางแผนเรื่องรายจ่ายต่างๆค่ะ โดยอาจจะเป็นการคำนวณจากเดือนที่ผ่านมาก็ได้ ว่าเราใช้เงินกับค่ากินอาหารเท่าไหร่ ค่าไฟในเดือนที่แล้วกี่บาท ค่าน้ำเดือนที่แล้วเท่าไหร่ ลองคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆโดยประมาณเอาค่ะ แล้วเราก็เอามารวมว่าในหนึ่งเดือนเราต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งข้อดีของการคำนวณเงินแต่ละเดือนล่วงหน้า ทำให้เราสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายอื่นๆถูกค่ะ อาจจะเป็นการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือเมื่อคำนวณแล้วเราอาจจะมีเงินเหลือเอาไว้ใช้ช้อปของเราก็ได้ค่ะ ซึ่งการช้อปนั้นก็ควรคำนึงถึงเงินเก็บไว้ด้วย ซึ่งข้อต่อไปของเราถือว่าต้องใช้ความอดทนไม่น้อยเลยทีเดียว รวมไปถึงการหักห้ามใจของเราด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วอย่าลืมที่จะวางแผนคำนวณค่าใช้จ่ายกันนะคะ และในแต่ละเดือนก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป ดังนั้นแล้วอย่าลืมเซฟเงินตัวเองกันด้วยนะคะ
เงินสำรองฉุกเฉินสำคัญที่สุด
แน่นอนว่าทุกๆคนควรมีเงินสำรองกันเอาไว้เผื่อในวันข้างหน้ามีเรื่องฉุกเฉินเกิดขึ้นมา เราจะได้นำเงินตรงนั้นมาใช้จ่ายในส่วนที่เราจำเป็น อย่างที่ได้บอกไปในข้อที่แล้วค่ะว่า พอมาถึงข้อนี้เราต้องใช้ทั้งความอดทนต่อของที่เราอยากได้และความพยายาม เพื่อให้ได้เงินก้อนที่เอามาไว้ใช้ในตอนที่มีเหตุจำเป็น แล้วฟรีแลนซ์สามารถเก็บเงินได้อย่างไร ไม่ยากเลยค่ะ ต่อจากข้อเมื่อกี้เลยคือพอเราวางแผนคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆเสร็จปุ๊บ และเราทำการชำระในเดือนนั้นหมดแล้ว เงินส่วนที่เหลือเนี่ยเราอาจจะแบ่งมาสัก 20% หรือกี่เปอร์เซ็นต์ก็ได้ค่ะเรื่องเงินเก็บตรงนี้ก็อยู่ในดุลยพินิจของเพื่อนๆได้เลยค่ะว่า จะเก็บในแต่ละเดือนเท่าไหร่ แต่ว่าที่สำคัญนั้นคือความอดทนและความห้ามใจต่อสิ่งของต่างๆ วันใดวันหนึ่งเราอาจจะอยากได้รองเท้าที่ออกใหม่ แต่เราไม่มีเงินเก็บ มีก็เพียงแต่เงินฉุกเฉิน แนะนำว่าเพื่อนๆอย่าเอาเงินฉุกเฉินตรงนี้ออกมาใช้ดีกว่านะคะ เราอาจจะเก็บเงินไว้สิงก้อนก็ได้ก้อนหนึ่งคือเอาไว้ใช้ตอนฉุกเฉิน ส่วนอีกก้อนนำมาใช้ตอนที่เราอยากได้ของต่างๆก็ได้ค่ะ
ประกันชีวิตก็ต้องทำ
เรื่องของประกันชีวิตนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญของทุกๆคนเลยก็ว่าได้ค่ะ ซึ่งการทำประกันชีวิตก็ถือว่าให้สิทธิต่างๆกับเรามากเลยทีเดียว เพราะว่านอกจากจะให้ความคุ้มครองแล้ว ยังให้ค่าชดเชยหากเกิดเหตุการณ์ต่างๆที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญา ซึ่งในแต่ละประกันชีวิตก็จะให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป เราจึงควรเลือกประกันชีวิตที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุด โดยประเภทของประกันชีวิตนั้นมี 4 ประเภทดังนี้ค่ะ แบบสะสมทรัพย์ แบบคุ้มครองชีวิตตลอดชีพ แบบบำนาญ และสุดท้ายแบบชั่วระยะเวลาค่ะ ซึ่งประกันชีวิตประเภททั้ง 4 แบบนี้จะให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป และเพื่อนๆที่จะทำประกันชีวิตก็อย่าลืมที่จะศึกษาประเภทประกันชีวิตนั้นๆกันด้วยนะคะ และหากถึงคราเวลาเซ็นสัญญาประกันชีวิตแล้วควรอ่านรายละเอียดให้ครบทุกตัวอักษรเลยค่ะ เพราะเราอาจจะโดนหลอกในสัญญานั้นก็ได้ ดังนั้นก่อนจะสมัครประกันชีวิตดูให้ดีๆก่อนนะคะ
เรื่องการลงทุน รู้สักนิดจะติดใจ
หากเพื่อนๆที่เป็นฟรีแลนซ์มีเงินเก็บที่สามารถลงทุนได้ ก็ลองเปิดใจให้กับการลงทุนก็ได้นะคะ เพราะว่าอาจจะทำให้เรามีรายได้เสริมเข้ามาจากการลงทุนในครั้งนี้ก็ได้ค่ะ การลงทุนนั้นก็เช่นเดียวกับการทำประกันชีวิตที่เราต้องศึกษาข้อมูลต่างๆไว้ให้ดี เพราะตามโทรทัศน์เพื่อนๆคงเคยได้ยินข่าวที่ประชาชนล้มละลาย หรือการโดนหลอกลวงกันใช่ไหมคะ สิ่งที่เราจะบอกคือในยุคปัจจุบันของเรานี้มันกระโดดก้าวไกลไปมาก มีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันอยู่ค่ะ เราจึงอย่าไว้ใจใครง่ายๆ วิธีแก้ปัญหาจากตรงนี้เลยคือ การลงทุนให้พอดีพอเหมาะไม่ลงทุนจนหมดตัว ตามพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ค่ะ นั่นคือการเดินทางสายกลาง ไม่มากไปไม่น้อยไปเอาแต่พอดี เพราะฉะนั้นหากคิดจะลงทุนก็ต้องศึกษาให้ดีก่อนลงมือกันนะคะ
สร้างรายได้เสริมมาเติมเต็ม
เนื่องจากการเป็นฟรีแลนซ์นั้นเราจะมีอิสระในการทำงานของตนเอง ซึ่งในแต่ละงานนั้นก็อาจจะมีเวลาเหลือ เราจึงสามารถนำเวลาที่เหลือตรงนี้ไปหารายได้เสริมให้กับตัวเองได้ค่ะ อาจจะเป็นการทำงานพาร์ทไทม์ หรือว่าการขายของมือสองอย่างเช่นรองเท้า เสื้อผ้า แต่การทำงานนั้นก็ควรมีเวลาพักให้กับตัวเองกันด้วยนะคะ อย่าทำงานหักโหมมากจนเกินไปเพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและต่อการทำงานของเราด้วยก็ได้ ดังนั้นแล้วหารายได้เสริมเพื่อมาแบ่งเบาค่าใช้จ่ายภายในบ้าน หรือจะนำเงินที่ได้จากรายได้เสริมนำมาเก็บไว้เป็นเงินฉุกเฉินหรือเงินเก็บเวลาอยากได้ของอะไรก็ได้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 5 เทคนิคบริหารการเงินฉบับชาว Freelance ที่นี่
ก็จบกันไปแล้วค่ะสำหรับฟรีแลนซ์ วางแผนการเงินยังไง ซึ่งวิธีที่เราได้บอกไปเพื่อนๆสามารถค่อยๆเริ่มทำก็ได้ค่ะ เพื่อที่จะสามารถปรับการดำรงชีวิตในด้านต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคำนวณรายจ่าย การเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน การสมัครประกันชีวิต และเรื่องของการลงทุนก็สามารถสร้างรายได้แบบ Passive Income ใ้ห้เราได้ โดยที่การลงทุนนั้นควรลงทุนให้พอเหมาะไม่มากจนเกินไปและควรศึกษาให้ดีเช่นเดียวกับประกันชีวิตค่ะ และสุดท้ายคือเรื่องของการหารายได้เสริม เราอาจจะนำเงินจากรายได้เสริมมาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้านก็ได้ หรือจะนำมาเป็นเงินเก็บก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ หากต้องการปรึกษาเพิ่มเติมสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรีที่ลิงก์ด้านล่าง
มะตูม
เราว่าการวางแผนการเงินของเราให้ฉลาดและพอดีกับการใช้จ่าย จะช่วยให้เรามีเงินเก็บและไม่เป็นหนี้ ถึงแม้ว่าเราจะประกอบงานอาชีพอะไรก็ตาม ถ้าทุกคนใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทุกคนก็จะไม่สำบาก ถึงแม้สภาพการณ์ของโลกจะเปลี่ยนไป แต่เรายังสามารถใช้ชีวิตที่เรียบง่ายได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง คุณก็สามารถมีความสุขได้เช่นกันค่ะ
โย
อาชีพฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่น่าสนใจนะครับ ผมเองทำงานอาชีพประจำแต่ก็คิดอยู่ในใจว่าสักวันอยากจะออกไปทำงานเป็นนายตัวเองหรือที่จริงตอนนี้งานอาชีพที่ผมทำอยู่ถ้าจัดเวลาดีๆก็สามารถทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปได้ด้วยและรู้สึกว่าความสามารถและความรู้ที่ได้จากงานที่ทำตอนนี้ก็น่าจะเปิดรับจ๊อบออนไลน์จากข้างนอกได้อยู่เหมือนกัน แต่คิดว่าคงต้องจัดหาเวลาดีๆก่อนน่ะครับ
โซดา
เราว่าการวางแผนชีวิตเรื่องเงินเป็นเรื่องยากนะ แต่ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ถ้ารายได้แน่นอนก็ดีไป แต่เรามองอย่างนึงนะไม่ว่าจะอาชีพไหนประกันชีวิตก็ต้องทำทำไว้ดีกว่า แล้วก็เรื่องเก็บเงินสำรองอย่างปีละเนี่ยเราว่าเงินสำรองต้องมีถ้าเป็นไปได้ก็ค่อยเก็บไปให้มีใช้สักอย่างน้อย 3 เดือนถึง 6 เดือนเพราะว่าปลอดภัย เกิดวันดีคืนดีมีโรคระบาดอย่างอื่นมาจะได้ไม่ลำบากหรือเกิดอุบัติเหตุก็ยังมีเงินสำรอง
กล้า
ผมก็มีเพื่อนที่ทำงานฟรีแลนซ์นะครับ เมื่อก่อนนี้ก็ทำงานอยู่ในบริษัทเดียวกันเจ้าตัวทำแผนกกราฟิกดีไซน์ แต่ทำได้อยู่ไม่กี่ปีก็ไปเปิดเป็นของตัวเอง เห็นบอกว่าไม่อยากเป็นลูกน้องใครอยากเป็นนายตัวเอง ตอนนี้ก็ยังมีงานมาเรื่อยๆไปลงโฆษณาตามเว็บไซต์ต่างๆ นอกจากจ่ายค่าภาษีอะไรแล้วเงินเก็บก็มีถ้าวางแผนการเงินดีๆผมว่าจะทำงานอาชีพไหนก็สามารถมีเงินใช้แบบสบายได้นะครับ
007_
@มะตูม ผมก็ว่างั้นแหละ มันอยู่ที่เราว่าเราจัดการค่าใช้จ่ายยังไง ทำงานอะไรก็วางแผนการใช้จ่ายได้หมดถ้าจะทำ อย่างฟรีแลนซ์ก็มีข้อดีนะ ถ้าเราจำกัดค่าใช้จ่ายให้เท่าเดิมไม่ว่าได้เงินเท่าไหร่ ช่วงที่เราได้เงินเยอะแต่ค่าใช่จ่ายเท่าเดิมเราก็เก็บเงินได้เยอะขึ้นนะ ส่วนคนทำงานประจำอะ เงินเท่าเดิมทุกเดือน เก็บประจำยังไงก็เก็บได้จำนวนเท่าเดิม
ปิยะ
ตอนนี้อาชีพแบบนี้ให้มีงานได้ทำก็ถือว่าดีแล้วครับ จะให้มาหาหลายๆงาน ก็คงเป็นไปได้ยากแล้วครับ เพราว่าตั้งแต่ มีโควิด-19 ธุรกิจที่ต้องให้คนที่ทำงานแบบนี้ได้รับผลกรทบมากเลยครับ หลายที่ก็ต้องปิดตัวลงไป ไม่ต้องไปมองที่ไกลครับ ดูอย่างผมแล้วกันครับ เมื่อก่อนรับงานออกแบบ ของ4บริษัทครับ แต่ตอนนี้ เดือนหนึ่งได้งานที่เดียวก็ถือว่าดีแล้วครับ
555+
@โซดา หลายคนคงหวังอยากวางแผนชีวิตแบบนั้นนะครับ แต่มันก็ยาก แต่ถ้าทำได้มันจะดีมาก มีเงินสำรองยังไงก็สบายใจกว่าอยู่แล้ว สรุปว่าผมอ่านๆบทความนี้แล้วก็ไม่ต่างนะ ไม่ว่าจะทำงานแบบไหน เรื่องสำคัญก็คล้ายๆกัน แต่วิธีการอาจจะต่างกันแต่ไปถึงเป้าหมายเดียวกัน คือ มีความคุ้มครองความเสี่ยง มีเงินสำรอง อาชีพไหนรายได้ยังไงก็อยากได้ความมั่นคงทั้งนั้น