ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของคนเราในทุกวันนี้คงคุ้นเคยกับคำว่า ”หนี้” กันเป็นอย่างดีใช่ไหมคะ? กับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ข้าวของเครื่องใช้ก็มีแต่ราคาสูงขึ้นๆ โน่นก็แพง นี่ก็แพง แต่ค่าแรงเงินเดือนของเรากลับนิ่งกริบไม่มีทีท่าว่าจะขึ้นสักที ในส่วนของใครๆที่เปิดร้านทำมาค้าขายก็กลับซบเซาลงอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีเรื่องที่เข้ามาถามโถมช่วยซ้ำเติมสถานการณ์ให้สาหัสหนักเข้าไปอีกอย่างวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ก็ยิ่งช่วยพาให้ “เงิน” ที่ปกติก็หายากกันอยู่แล้วก็ยิ่งหายากลำบากมากขึ้น ทำให้หลายๆคนซึ่งเคยมีภาระหนี้สินมาก่อนหน้านี้ก็รู้สึกจะย่ำแย่ เพราะเงินเดือนก็เหลือน้อย กู้เพิ่มก็ไม่ได้ เกิดความเครียดหนักขึ้นเพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากตรงไหนไปจ่ายคืนให้กับภาระหนี้ที่มีอยู่ เมื่อถึงเวลาต้องจนตรอกเช่นนี้จึงพาให้เกิดความคิดที่ว่า “ช่างมัน เต็มที่ก็ขึ้นศาล ไม่ถึงขั้นติดคุกหรอก!” หรือ “มันก็แค่คดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา เดี๋ยวมีเมื่อไหร่ก็ค่อยๆจ่ายเอา” แต่การปล่อยให้ความคิดลักษณะเช่นนี้พาให้ตัวเองปล่อยหนี้ที่ติดค้างให้กลายเป็นหนี้เสีย จะจบง่ายๆอย่างที่คิดกันไหม? และเมื่อทำแล้วชีวิตจะต้องเจออะไรต่อไป? ก็ขออย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปกันไป เพราะวันนี้เราจะได้ไปค้นคำตอบกันกับเรื่องราวที่ได้นำฝากค่ะ กับ “คิดให้ดีก่อนจะปล่อยให้ “หนี้เสีย” จนติด “Blacklist”” จะเป็นอย่างไรนั้น ตามไปดูรายละเอียดกันได้เลยค่ะ

เบี้ยวหนี้ในวันนี้… ก่อให้มีผลเสียในวันหน้า…

เบี้ยวหนี้ในวันนี้… ก่อให้มีผลเสียในวันหน้า…

ก่อนอื่นเลยก็ต้องขอพามาให้ทำความรู้จักกับเครดิตบูโรกันก่อน แม้ว่าหลายๆคนคงจะเคยได้ยินและได้คุ้นหูกับคำว่าเครดิตบูโรกันมาแล้ว แต่ก็มีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป ซึ่งจริงๆแล้วเครดิตบูโร หรือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นตัวกลางที่ทำการจัดเก็บรวบรวมเครดิต ซึ่งจะมีทั้งการรวบรวมข้อมูลประวัติการชำระหนี้ทั้งดี และไม่ดี (ผิดนัดชำระ ,  ค้างชำระ) ของสถาบันการเงินต่างๆที่เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นข้อมูลที่ได้มาจากสถาบันการเงินต่างๆ หรือบริษัทที่เป็นสมาชิกอยู่นั้นทำการจัดส่งให้ค่ะ

ในทุกๆครั้งที่มีการขอสินเชื่อ ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างๆ ก็มักจะทำการขอประวัติไปที่เครดิตบูโรเพื่อทำการตรวจสอบเป็นรายๆไปก่อนทุกครั้ง ก่อนที่จะทำการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในขั้นตอนต่อๆไป ซึ่งหลายๆคนที่ไปเคยขอสินเชื่อไม่ผ่าน ก็อาจเพราะมีชื่อขึ้นอยู่ในบัญชี หรือที่รู้จักกันดีว่าชื่อที่ติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโรนี้เองล่ะค่ะ ซึ่งอาจเคยมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี เช่น ผิดนัดชำระเป็นประจำ หรือมีหนี้เสียคงค้างอยู่กับสถาบันการเงินที่อื่นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประวัติทางการเงินที่ส่อให้เห็นถึงความไม่มีวินัยทางการเงินของตัวผู้ขอกู้ค่ะ ซึ่งหากปล่อยสินเชื่อออกไปโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ในอนาคตก็จะมีสูงนั่นเอง แต่ประวัติการชำระหนี้ที่ได้จาทางเครดิตบูโรนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทางธนาคารหรือทางสถาบันการเงินจะสามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้หรอกนะคะ เพราะเป็นแค่เพียงปราการด่านแรก ที่ยังต้องมีในส่วนอื่นๆอีกที่จะใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้ อย่างเช่น รายได้ อาชีพ อายุงาน ประวัติการออม หรือหลักทรัพย์อื่นๆที่มีของผู้กู้ค่ะ

บางคนอาจเคยสงสัยว่าแล้วพวกประวัติการชำระเงิน หรือการค้างชำระค่าสาธารณูปโภค อย่างเช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำประปา ค่าไฟ นี่จะทำให้ชื่อไปติดเครดิตบูโร เป็น Blacklist กันไหม? ตรงนี้ก็ขอบอกกันได้เลยว่า แม้เครดิตบูโรเองจะตัวกลางในการจัดเก็บรวบรวมประวัติการชำระเงินต่างๆของลูกหนี้ก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายรวมไปถึงข้อมูลในการชำระ หรือค้างชำระของค่าสาธารณูปโภคอื่นๆด้วยหรอกค่ะ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้มีการทำประวัติจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ค่ะ แต่หากเป็นเรื่องประวัติที่เคยผ่อนโน่นผ่อนนี่ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่ออื่นๆนั้น ก็แน่นอนว่าประวัติเหล่านี้นั้นจะถูกรวบรวมไว้ครบเลยล่ะค่ะ สำหรับรายชื่อต่างๆที่ขึ้นบัญชีดำ หรือติด Blacklist นี้ ก็ขอให้เข้าใจตรงกันไว้เลยว่า ทางเครดิตบูโรเองก็ไม่ได้มีสิทธิ์ หรือมีหน้าที่ในการพิจารณาว่าลูกหนี้รายไหนเป็นบัญชีดำ หรือติด Blacklist ค่ะ รู้อย่างนี้แล้วก็ขอได้อย่าเบี้ยวหนี้ในวันนี้… ก่อให้มีผลเสียในวันหน้า…อย่างแน่นอนค่ะ

รายงานตามผลที่เกิดขึ้นจริง และไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขประวัติเดิมได้

รายงานตามผลที่เกิดขึ้นจริง และไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขประวัติเดิมได้

เพื่อนๆเคยสงสัยกันไหมคะว่าแล้วประวัติการชำระนี้จะอยู่ในเครดิตบูโรนี้นานแค่ไหนกัน? จากที่กำหนดหมายกำหนดไว้นั้นไม่ว่าจะเป็นประวัติการชำระของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลจะถูกกำหนดไว้ที่ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่สมาชิกต่างๆของเครดิตบูโรนั้นแจ้งรายงานเข้ามาค่ะ โดยจะมีการแจ้งมีข้อมูลใหม่เข้าไปแทนที่ข้อมูลเก่าเรื่อยไป และจะมีอัพเดทอยู่ตลอดในทุกๆสิ้นเดือนค่ะ ดังนั้นหากมีการค้างชำระในเดือนใดขึ้นมา ข้อมูลนั้นก็จะขึ้นสถานะว่าในเดือนนั้นว่าค้างชำระ ซึ่งรายงานข้อมูลเครดิตนี้ จะรายงานตามผลที่เกิดขึ้นจริง และไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขประวัติเดิมได้ค่ะ แต่ในกรณีที่ยอดค้างชำระนี้ได้มีการชำระเข้ามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการส่งรายงานเข้ามาเพื่อทำการอัพเดทใหม่ และสถานะใหม่ก็จะขึ้นว่า “ชำระเรียบร้อยแล้ว” หรือ “ปิดบัญชีแล้ว” ให้ค่ะ ทั้งนี้สถานะเดิมที่เคยขึ้นว่าค้างชำระจะยังคงอยู่ต่อไป เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่ารายงานข้อมูลเครดิตนี้จะไม่สามารถกลับไปแก้ไขประวัติเดิมได้ จึงต้องรอให้พ้นระยะเวลา 3 ปี หรือ 36 เดือนตามที่กฎหมายกำหยดไว้เสียก่อน ข้อมูลเก่าที่เคยขึ้นว่าค้างชำระนี้จึงจะถูกลบหายออกไปค่ะ

ที่นี้ให้เรามาดูกันว่าแล้วประวัติการชำระหนี้นี้จะส่งผลอย่างไรกับชีวิต? อย่างไรกล่าวกันไปแล้วเมื่อเกิดการขอสินเชื่อ ธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างๆจะเข้าไปรอรายงานประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้ เพื่อใช้ทบทวนและพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อให้แน่ใจว่าผู้กู้นั้นมีประวัติการชำระเป็นอย่างไร? มีหนี้สินคงค้างยอดสินเชื่ออยู่กับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นๆมากน้อยเท่าไหร่? เพื่อจะได้ประกอบการพิจารณาในเบื้องต้นว่าจะส่งเรื่องเพื่อทำการอนุมัติสินเชื่อต่อไหม หรือจะอนุมัติได้ที่วงเงินเท่าไหร่นั่นเองค่ะ ดังนั้นหากผู้กู้มีประวัติการชำระที่ดีมาโดยตลอด และหนี้สินรวมกับสถาบันการอื่นน้อย หรือแทบจะไม่มีแล้วก็จะทำให้การอนุมัติสินเชื่อตามวงเงินที่ผู้กู้ต้องการนั้นก็จะมีโอการผ่านการพิจารณาได้สูงมากค่ะ แต่ในทางตรงข้ามหากผู้กู้เคยมีประวัติการชำระที่ไม่ดี ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อก็จะเห็นประวัติของผู้กู้ได้จากรายงานเครดิตบูโรด้วยเช่นกันว่า หากปล่อยกู้ออกไป โอกาสที่จะมีแนวโน้มของพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดการผิดนัดชำระก็จะมีสูงในอนาคต จึงทำให้โอกาสผ่านในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้นั้นลดน้อยลงไปด้วย หรือบางทีอาจต้องใช้หลักทรัพย์ บุคคล หรืออื่นๆเข้าร่วมค้ำประกันในประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อเพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย หรือ NPL ขึ้นนั่นเองค่ะ ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามหลักการพิจารณาของธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างๆ ด้วยซึ่งจะแตกต่างกันออกไปค่ะ

กันไว้ดีกว่าแก้ หยุดพฤติกรรมเสีย เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย

กันไว้ดีกว่าแก้ หยุดพฤติกรรมเสีย เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับ “คิดให้ดีก่อนจะปล่อยให้ “หนี้เสีย” จนติด “Blacklist”” คงช่วยให้ความคิดที่จะปล่อยปะละเลยภาระหนี้ที่มีให้กลายเป็นหนี้เสียได้คิดทบทวนกันให้ดีอีกครั้ง ใช่อยู่ที่ท้ายสุดแล้วก็ต้องเป็นคดีความที่เป็นคดีทางแพ่ง ที่แม้ไม่ต้องติดคุกเหมือนกับคดีอาญา แต่อย่าลืมว่าเป็นหนี้ มันก็ต้องจ่ายคืนค่ะ ไม่สามารถเบี้ยว หรือยอดหนี้จะหายกลายเป็นศูนย์ไปได้ แต่จะต้องจ่ายเป็นรูปแบบไหนนั้นก็เป็นเรื่องของศาลที่จะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งอาจจะถูกยึดทรัพย์ หรือต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย ฉะนั้นทางที่ดีหากไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ต่อไป ก็ควรรีบไปขอรับคำปรึกษาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกันค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าทางเจ้าหนี้เขายินดีที่จะให้คำปรึกษา และมีทางออกที่ดีให้กับเราได้โดยที่ประวัติการเงินไม่ต้องเสียอีกด้วย เรื่องแบบนี้กันไว้ดีกว่าแก้ หยุดพฤติกรรมเสีย เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย เพราะเครดิตดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอาเองค่ะ