ปัจจุบันผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เบื่อกับการทำงานประจำแล้วมาเลือกทำธุกิจส่วนตัว มาเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ร้านอาหาร หรือขายของตามตลาดเปิดท้ายต่างๆ แต่ใช่ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ประสบปัญหาอะไรเลย บางคน สามารถเปิดร้านที่ตัวเองชอบได้จนประสบความสำเร็จ แต่บางคนก็ต้องพ่ายแพ้กับการขาดเงินทุนหรือจะเรียกแบบนักธุรกิจคือ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อที่จะทำอาชีพของตัวเองให้สำเร็จ ตอนนี้ ขอเรามาทำความรู้จักสินเชื่อที่จะสามารถเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของเรา สินเชื่อที่ว่านี้คือ “สินเชื่อธุรกิจ”ตอนนี้ขอให้รายละเอียดที่ควรรู้เกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจ

สินเชื่อธุรกิจ คือ สินเชื่อแบบไหน?

สินเชื่อธุรกิจ คือ สินเชื่อแบบไหน?

สินเชื่อธุรกิจ คือ สินเชื่อเพื่อธุรกิจสำหรับท่านเจ้าของกิจการที่ประกอบกิจการมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ต้องการเงินทุนมาหมุนเวียน หรือต้องการเงินทุนเพื่อใช้ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออุปกรณ์ต่างๆในการทำกิจการ ซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต หรือขยายธุรกิจ เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชี(O/D) , เงินกู้ระยะยาว (T/L) , วงเงินรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) , สินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ , สินเชื่อโครงการพิเศษ , บริการด้านการค้ำประกัน ฯลฯ

ประเภทของสินเชื่อธุรกิจ

ประเภทของสินเชื่อธุรกิจ

-สินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียน เป็นสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการต่างๆ สินเชื่อชนิดนี้นิยมขอกันมากแทบจะทุกกิจการ

  • สินเชื่อเงินกู้ในระยะยาว สินเชื่อตัวนี้ใช้เพื่อเป็นรากฐานของการเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆและช่วยให้ในอนาคตธุรกิจมั่นคงได้ ส่วนมากสินเชื่อนี้จะกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ บางคนก็กู้สินเชื่อนี้ในธุรกิจบ้านพักอาศัย เป็นต้น
  • สินเชื่อในการค้ำประกัน สินเชื่อชนิดนี้เป็นการขอเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจให้ผู้อื่นสนใจร่วมลงทุนด้วย หรือขอสินเชื่อนี้เพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนที่เข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วย เช่น หนังสือค้ำประกันต่างๆ (Letter of Guarantee ; Bank Guarantee) เป็นต้น
  • สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ สินเชื่อตัวนี้สถาบันทางการเงินจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการทำธุรกิจการนำเข้าและส่งออก เป็นสินเชื่อที่เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง สำหรับคนที่สนใจทำการค้าระหว่างประเทศ
  • สินเชื่อพิเศษ ชื่อของสินเชื่อนี้ก็บอกในตัวมันเองแล้วว่าพิเศษ แต่พิเศษแบบไหน สินเชื่อนี้จะถูกจัดเงินตามนโยบายของสถาบันการเงินต่างๆที่เป็นผู้กำหนด สินเชื่อนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นต้องติดตามนโยบายของสถาบันทางการเงินนั้นๆอย่างใกล้ชิด ว่าที่ไหนจะออกโปรแกรมอะไรที่ตรงกับความต้องการของเรา

ปัญหาที่มักพบในการขอสินเชื่อธุรกิจ

ปัญหาที่มักพบในการขอสินเชื่อธุรกิจ

บางครั้งการขอสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป บางคนต้องทิ้งความฝันของตัวเองไปเพราะขอกู้สินเชื่อไม่ผ่าน ตอนนี้เราจะพิจารณาด้วยกันว่า อะไรอาจเป็นสาเหตุในการขอสินเชื่อธุรกิจแล้วไม่ผ่าน?

  • ไม่มีหลักทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันในการขอกู้ ปัญหานี้มักเกิดกับผู้ประกอบการรายย่อยหรือกลุ่มคนที่คิดจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองและเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ หลายคนไม่ทราบว่าอะไรที่สามารถเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถเป็นหลักประกันได้ สิ่งหนึ่งที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันได้คือ “บ้าน” แต่บ้านต้องไม่มีการติดจำนองหรือกำลังติดภาระสินเชื่อ เพราะไม่สามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันได้ แต่ถ้าคุณไม่มีหลักทรัพย์ใดๆเลย คุณสามารถขอกู้สินเชื่อนี้ได้ไหม? ได้ บางสถาบันทางการเงินยอมรับให้มีบุคคลที่รับประกันแทนคุณได้ แต่ต้องระวังด้วยสำหรับคนที่เป็นคนค้ำประกันให้ เพราะผู้กู้หลายรายเมื่อไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด มักจะเลือกวิธีที่คล้ายๆกันคือ ไม่ยอมจ่ายและเงียบหายไปเลย ทำให้บุคคลที่ค้ำประกันต้องมาแบกรับหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ดังนั้น เพื่อป้องกันการเป็นหนี้เสียของสถาบันทางการเงิน เขาจึงมีระเบียบข้อบังคับเพื่อป้องกันผู้ค้ำประกันเช่น ผู้ที่จะค้ำประกัน ต้องมีรายได้ประจำหรือมีเงิน ไม่ต่ำกว่า 50,000-300,000 บาทขึ้นไป ถึงจะมีการพิจารณาเรื่องการขอสินเชื่อได้

  • ต้องมีประสบการณ์ในด้านธุรกิจที่คุณจะขอกู้ หลายคนเห็นคนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะได้ข้อมูลมาจากไหน แล้วก็ไปคิดเอาเองว่าตัวเองสามารถทำได้เหมือนคนอื่นๆเขาที่ประสบความสำเร็จ เช่น คุณไม่มีความรู้เรื่องขนมหรือกาแฟเลย แต่อยากเปิดตามคนอื่นเขา สถาบันทางการเงินก็ไม่ยอมให้คุณกู้แน่นอนเพราะอะไร เพราะเขาไม่เห็นความสามารถในตัวคุณที่จะจัดการบริหารงานเหมือนคนที่ประสบความสำเร็จ สถาบันทางการเงินก็ต้องป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดกับเงินที่ขอกู้ ดังนั้น ประสบการณ์ของผู้กู้จึงสำคัญมากที่สถาบันทางการเงินจะอนุมัติการขอสินเชื่อของคุณ อย่าลืมว่าสถาบันทางการเงินคิดคนละมุมกับคุณ คุณอาจคิดว่าจะทำเงินกับธุรกิจได้กำไรวันละเท่าไหร่ แต่สถาบันทางการเงินจะคิดในมุมที่กลับกัน เขาอาจคิดว่าถ้ายอดในแต่ละวันที่คุณวางไว้ไม่สามารถทำถึงได้ คุณจะส่งเงินที่ขอกู้ไหวไหม? ยิ่งถ้าเขารู้ว่าเพิ่งเริ่มธุรกิจใหม่และไม่มีประสบการณ์หรือแค่พอมีบ้าง โอกาสที่สถาบันทางการเงินจะปล่อยสินเชื่อให้คุณคงลำบาก

  • ต้องมีแผนของธุรกิจที่ชัดเจน สำหรับผู้ที่จะเริ่มทำธุรกิจของตัวเองบอกเลยว่าแผนการดำเนินงานเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆที่สถาบันทางการเงินจะขอตรวจสอบ เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้แผนธุรกิจของเราเข้าตาสถาบันทางการเงิน ก่อนอื่นแผนของธุรกิจคืออะไร? เราต้องทำความเข้าใจก่อน แผนธุรกิจเป็นแนวทางการทำธุรกิจของกิจการคุณเองเมื่อคุณเริ่มเขียน คุณก็จะได้เริ่มวิเคราะห์หาต้นทุนในการเริ่มทำธุรกิจทั้งในเรื่องของทรัพย์สิน อย่าง อาคาร, สำนักงาน, เครื่องจักร และ การตกแต่งร้านต่าง ๆ หรือค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น ต้นทุนการซื้อวัตถุดิบ, เงินเดือน, ค่าน้ำ-ค่าไฟ และ ค่าประชาสัมพันธ์กิจการ  ซึ่งในรายที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจก็อาจจะประมาณต้นทุนการจัดการต่างๆไว้ต่ำมากเกินไป เห็นได้ว่าการทำแผนธุรกิจไม่ใช่เพื่อให้สถาบันทางการเงินตรวจสอบเท่านั่น แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจที่เรากำลังจะทำด้วย เมื่อเราได้จัดทำแผนธุรกิจของเราแล้ว เราจึงนำไปยื่นกับสถาบันทางการเงิน อาจมีการส่งกลับมาให้เราแก้ไขข้อมูลบางอย่าง เช่น เราอาจคำนวณงบลงทุนผิดพลาดไหมหรือเขาอาจขอให้แก้ไขให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด แต่ถ้าเราไม่สามารถทำแผนธุรกิจของเราได้ สถาบันทางการเงินจะมองเราว่าขาดความรู้ที่แท้จริงต่อธุรกิจที่กำลังจะทำ คำขอกู้ของเราก็จะไม่ได้รับอนุมัติ
 ส่วนมากสถาบันทางการเงินจะขอดูแผนธุรกิจ ดังนี้:

  • แผนการจัดการองค์กร เช่น แผนก จำนวนพนักงาน เงินเดือน

  • แผนการผลิต เช่น แหล่งซื้อและราคาวัตถุดิบ เพื่อดูต้นทุน

  • แผนการตลาด เช่น ทำเล กลุ่มลูกค้า เพื่อดูยอดขาย และแผนการเงิน เพื่อดูต้นทุนและเงินลงทุนทั้งหมด และจะพิจารณาวงเงินกู้ที่จะให้กับเราตามความเหมาะสม

  • ประวัติความน่าเชื่อถือของผู้ขอกู้สินเชื่อ  เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อจะไปขอยืมเงินใคร เขาก็ต้องขอเช็คประวัติเราก่อนเพื่อความมั่นใจ และยิ่งเราไปขอกู้กับสถาบันทางการเงินด้วยแล้ว เขาต้องตรวจสอบประวัติว่าเรามีหนี้หรือมีประวัติการชำระหนี้ดีขนาดไหน สถาบันทางการเงินจะดูด้วยว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน รายได้ที่เรามีพอจ่ายค่างวดไหม? มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจหรือมีทรัพย์สินเพียงพอใช้หนี้ที่เราขอกู้สินเชื่อหรือไม่?

  • การเดินบัญชีของเรา สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ได้เงินเป็นประจำทุกๆเดือน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากครับ สามารถขอการเดินบัญชีย้อนหลังได้ แต่สำหรับคนที่ไม่มีการเดินบัญชีเลยเรื่องนี้คงเป็นเรื่องยากที่สถาบันทางการเงินจะอนุมัติสินเชื่อได้ ดังนั้นสำหรับใครที่ไม่มีการเดินบัญชีเลยก็ต้องลองหาวิธีครับว่าจะทำให้สถาบันทางการเงินเชื่อมั่นเราได้อย่างไร?

  • การเลือกสถาบันทางการเงินที่จะขอสินเชื่อ ในฐานะที่เราเป็นผู้กู้เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะขอกู้สินเชื่อธุรกิจจากสถาบันทางการเงินที่ไหนดี สิ่งแรกที่ผู้ขอสินเชื่อต้องทำคือ เช็คประวัติความน่าเชื่อถือของสถาบันทางการเงินนั้นก่อน ถ้าเป็นสถาบันทางการเงินที่มีชื่อเสียงดีอยู่แล้ว ก็หมดห่วงไปในระดับหนึ่ง ขั้นต่อมาให้ลองเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของหลายๆสถาบันทางการเงินดูก่อนเพราะการกู้ขอสินเชื่อเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจของเรา การเลือกสถาบันทางการเงินที่คิดดอกเบี้ยน้อยที่สุดทำให้เราลดรายจ่ายและลดโอกาสในการขาดทุนได้  หลังจากนั้นขอให้เปรียบเทียบวงเงินและการบริการต่างๆที่ทางสถาบันทางการเงินเสนอให้ เทียบดูว่าที่ไหนเหมาะสมกับเราที่สุด

เอกสารที่จำเป็นในการขอกู้สินเชื่อ

เอกสารที่จำเป็นในการขอกู้สินเชื่อ

  • สำเนาบัตรประชาชน/บัตรข้าราชการ
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล/ทะเบียนสมรส/ทะเบียนหย่า/ใบมรณบัตร (ถ้ามี)
  • Statement  ของบริษัท / ส่วนตัว ย้อนหลัง 12 เดือน ทุกธนาคาร
  • หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกิจการ ( อายุไม่เกิน 1 เดือน )และหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ ( บอจ.2), ทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้น ( บอจ.5 )   (กรณีบริษัท)
  • ทะเบียนพาณิชย์ / ทะเบียนการค้า / ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีหนังสือรับรองการจดทะเบียน)
  • เอกสารทางภาษีการค้า
  • แผนที่ตั้งกิจการ
  • เอกสารใบเสร็จ / บิลทางการค้า
  • รายการสต็อคสินค้า
  • งบการเงินย้อนหลัง  3 ปี

ข้อมูลเปรียบเทียบสินเชื่อสถาบันทางการเงินต่างๆ

ข้อมูลเปรียบเทียบสินเชื่อสถาบันทางการเงินต่างๆ

ธนาคารกรุงศรี

  • อัตราดอกเบี้ย 5% ปีแรก
  • วงเงินกู้สูงสุด 100% ของหลักทรัพย์ค้ำประกัน
  • ผ่อนชำระ 50% ของยอดผ่อนปกติในปีแรก   ค่าธรรมเนียม:

ค่าธรรมเนียมครั้งแรกในการจัดวงเงินสินเชื่อ (Front-End Fee) สูงสุดไม่เกิน 2% ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ

ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร

คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ:

  • นิติบุคคล หรือ บุคคลธรรมดาที่เป็นกรรมการของนิติบุคคล

  • บุคคลธรรมดา อายุ 20 ถึง 65 ปี ที่มีสัญชาติไทย

  • มียอดขายต่อปีมากกว่า 20 – 150 ล้านบาท

  • ประกอบกิจการในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 2 ปี

  • มีผลประกอบการและประวัติการเงินที่ดี

  • ผู้กู้ต้องไม่มีประวัติล้มละลาย หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้
 ธนาคารออมสิน

  • อัตราดอกเบี้ย 3.99% 1-2 ปีแรก

  • วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท

  • ผ่อนชำระ กู้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี และ10 ปีสำหรับระยะยาว
 คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ:

บุคคลธรรมดา / นิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และ เป็นผู้ประกอบการที่เริ่มประกอบกิจการ หรือ ประกอบกิจการมาไม่เกิน 3 ปี หรือ เป็นผู้ประกอบกิจการอยู่แล้ว ที่มีนวัตกรรมใหม่/มีผลิตภัณฑ์ใหม่/มีสายการผลิตใหม่

ธนาคารกรุงไทย

  • วงเงินสินเชื่อ สูงสุด 100 ล้านบาท หรือสูงสุด 3 เท่าของหลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน

  • ดอกเบี้ย 5% คงที่นานสองปี
 คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ:

  • ผู้ประกอบการ SMEs

  • มีประสบการณ์หรือดำเนินธุรกิจมากกว่า 3 ปี

  • ผ่านการตรวจสอบเครดิตบูโร

  • ชื่อ : สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก (SME Generic Product)

  • เหมาะสำหรับ SME ที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างน้อย 2 ปี และต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ

  • ให้วงเงินตามความต้องการของธุรกิจ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ขยายกิจการ หรือ เสริมความมั่นใจให้กับคู่ค้าด้วยหนังสือค้ำประกัน

  • ยืดหยุ่นด้านเอกสาร สามารถใช้หลักฐานแสดงรายได้อื่นๆ ประกอบการขอสินเชื่อได้ เช่น บิลเงินสด, ใบเสร็จ, ใบสั่งซื้อสินค้า เป็นต้น

ธนาคารกรุงเทพ

  • วงเงินสินเชื่อ สูงสุด 10 ล้านบาท

  • อัตราดอกเบี้ย ขั้นต่ำ MRR + 2%

  • MRR ขึ้นอยู่กับธนาคารกรุงเทพ
 คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ:

  • เป็นบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจหรือนิติบุคคล

  • มีอายุตั้งแต่ 20 – 65 ปี (กรณีบุคคลธรรมดา)

  • ยินยอมให้ธนาคารตรวจสอบข้อมูลเครดิต

  • อื่นๆ ตามที่ธนาคารกำหนด

ธนาคารกสิกรไทย

  • วงเงินสินเชื่อ สูงสุด 30 ล้านบาท
  • อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR-0.5% ต่อปี
  • หลักประกัน สถานประกอบการ

แบบไม่มีหลักประกัน

  • วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท
  • อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR+4.5% ต่อปี

คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ

  • นิติบุคคลที่ใช้เอกสารแสดงต่อกรมสรรพากรในการพิจารณาสินเชื่อ

  • มีประสบการณ์ดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 5 ปี

  • มีประวัติทางการเงินที่ดีตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด

  • เงื่อนไขเพิ่มเติม
 ธนาคาร OUB

  • วงเงินสูงถึง 5 ล้านบาท

  • ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน (ค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขยาดย่อม (บสย.)

  • ประเภทวงเงินกู้ระยะยาว

  • ผ่อนชำระยาวนานถึง 4 ปี
 คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ:

  • บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลจดทะเบียน ประกอบธุรกิจ และมีกิจการอยู่ในประเทศไทย และมียอดขายต่อปีไม่เกิน 400 ล้านบาท

  • ไม่เป็น NPL หรือปรับโครงสร้างหนี้ ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

  • ดำเนินธุรกิจมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี

  • งบการเงินไม่มีผลขาดทุนติดต่อกันในช่วง 3 ปีล่าสุด หรือ ไม่มีส่วนทุนติดลบ (สำหรับกรณีนิติบุคคล)

  • ยินยอมให้ธนาคารตรวจสอบเครดิตบูโร ทั้งผู้กู้และผู้ค้ำประกัน

  • ธนาคารเกียรตินาคิน

  • วงเงินอนุมัติสูงสุด 5 ล้านบาท

  • ไม่ต้องมีหลักประกัน

  • ผ่อนสบายแบบลดต้นลดดอกเริ่มต้นที่ MLR+ 10.85% หรือเทียบเท่า 18% ต่อปี

ต้องมีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งอย่างชัดเจนและที่พำนัก , สถานที่ประกอบธุรกิจของผู้สมัครสินเชื่อต้องไม่อยู่ที่ จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

ธนาคารไทยพาณิชย์

  • สินเชื่อกล้าให้

  • วงเงินสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อหมุนเวียนสูงสุด 2.5 เท่า โดยไม่ต้องใช้สถาบันค้ำประกันสินเชื่อ บสย.

  • วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท

  • ระยะเวลาในการชำระเงินกู้สูงสุด 7 ปี
 คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ:

  • เป็นผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจและมียอดขายต่อปีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

  • ดำเนินธุรกิจ และมีรายได้จากธุรกิจที่นำมาขอสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 3 ปี
 สถาบันทางการเงินที่กล่าวมาทั้งหมดไม่สามารถบอกได้ว่าสินเชื่อตัวไหนเหมาะกับคุณที่กำลังทำธุรกิจใหม่ เพราะแต่ละคนมีจุดประสงค์ในการขอกู้ไปทำธุรกิจไม่เหมือนกัน

พร้อมแล้วที่จะขอสินเชื่อ

พร้อมแล้วที่จะขอสินเชื่อ

ถ้าเราเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆที่ได้กล่าวไปแล้ว การขอสินเชื่อการทำธุรกิจของเราจะประสบความสำเร็จแน่นอน แต่ถ้าหากเราทำตามขั้นตอนนี้ทั้งหมดแล้วแต่ยังถูกสถาบันทางการเงินต่างๆปฏิเสธการขอสินเชื่อของเรา เราสามารถขอข้อมูลจากสถาบันทางการเงินได้เพื่อเอามาปรับปรุงในการขอสินเชื่อในครั้งถัดไป แล้วอย่าลืมขอเอกสารที่เรายื่นไปทั้งหมดกลับคืนมาด้วยนะครับ