โลกเราทุกวันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีก็ว่าได้ค่ะ เป็นยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างมาก มีความทันสมัยล้ำหน้าและเติบโตกันอย่างรวดเร็วจนเราตามกันแทบไม่ทันเลยใช่ไหมคะ การฝึกนิสัยการให้ออมให้กับลูกในทุกๆวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย เพราะมีสิ่งล่อตาล่อใจมากมายสำหรับเด็กๆ ให้อยากมีอยากได้ เมื่อสังคมโดยรวมเป็นลักษณะนี้จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้ได้ละเลยการปลูกฝังนิสัยการออมให้กับลูกๆ แถมซ้ำร้ายกว่านั้นกลับเป็นส่งเสริมพฤติกรรมไม่ดีในการใช้จ่ายให้กับลูกๆแทนอีกด้วยค่ะ นั่นเป็นเพราะความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูกๆ ว่ากลัวลูกจะน้อยหน้า ไม่มีเหมือนคนอื่น และพยายามทำให้ลูกมีได้เท่าเทียมกับเพื่อนๆมากที่สุด ลูกจึงซึมซับแต่พฤติกรรมการใช้จ่ายแบบผิดๆติดไปโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ตัวเลย

การปลูกฝังนิสัยรักการออมให้ลูกนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรหันมาเอาใจใส่ในการสอนให้กับลูกๆค่ะ เพื่อจะเป็นการสร้างนิสัยการออมที่ดี และทำให้ลูกมีนิสัยรักการออมติดตัวไปตั้งแต่ยังเล็กค่ะ วันนี้เรามี 6 วิธีฝึกนิสัยรักการออมให้ลูก มาฝากกันค่ะ บทความที่จะช่วยเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ในการฝึกลูกๆเพื่อสร้างนิสัยรักการออมให้กับเขาตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อที่เขาจะสามารถบริหารเงินได้ด้วยตัวเองในอนาคตต่อๆไปได้อย่างดีค่ะ จะมีอะไรบ้างนั้น เรามาติดตามอ่านกันไปพร้อมๆกันได้เลยค่ะ

1.เป็นแบบอย่างที่ดี

1.เป็นแบบอย่างที่ดี

“พ่อแม่คือครูคนแรกของลูก” คุณเห็นด้วยกับคำถามนี้ไหมคะ? เรามักเปรียบเด็กๆดั่งผ้าขาวกันเสมอ การที่เด็กๆจะมีนิสัยใจคอเป็นอย่างไรนั้น กว่า 80% เกิดการจากการซึมซับพฤติกรรมที่ได้มาจากคุณพ่อคุณแม่ พ่อแม่มีบทบาทกับลูกๆเป็นอย่างมากที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบจากการที่ลูกนั้นได้เห็นและจดจำค่ะ ด้วยเหตุนี้การที่คุณพ่อคุณแม่อยากจะให้ลูกๆของคุณนั้นเป็นอย่างไร การสอนที่ดีและเข้าใจง่ายที่สุดที่จะสอนลูกๆตอนยังเล็กนี้คือ คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีของคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ

อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า การเป็นแบบอย่างที่ดีของคุณพ่อแม่เป็นการสอนที่ดีกับลูกๆ และเห็นผลได้ดีที่สุด การสร้างนิสัยรักการออมให้กับลูกๆจึงจำเป็นมากที่คุณพ่อคุณแม่เองควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เพื่อให้ลูกได้ซึมซับและเกิดพฤติกรรมเลียนแบบค่ะ การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคุณพ่อคุณแม่จึงควรเป็นไปในแบบระมัดระวัง เป็นการใช้จ่ายตามความจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ใช้จ่ายกันตามอารมณ์ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องใช้เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า โทรศัพท์ รวมไปถึงการใช้จ่ายในเรื่องการกินอยู่ในแต่ละมื้อ ฯลฯ การใช้จ่ายในแต่ละครั้งนั้นควรเป็นการใช้จ่ายที่อยู่ภายใต้ความประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ตามกระแส เพื่อให้ลูกๆได้ซึมซับพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ถูกต้องที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบอย่าง ซึ่งตรงนี้จะช่วยปลูกฝังให้เขารู้จักคุณค่าของเงิน และช่วยเขาให้ใช้จ่ายตามความจำเป็นในอนาคตได้ค่ะ

2.กระปุกออมสินคือสิ่งจำเป็น

2.กระปุกออมสินคือสิ่งจำเป็น

เมื่อเราพูดถึงเด็กกับการออมเงินตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน “กระปุกออมสิน” คืออุปกรณ์ช่วยฝึกนิสัยในการเก็บออมที่ดีของเด็กๆที่ยาดเสียไม่ได้เลยล่ะค่ะ คุณพ่อคุณแม่ที่จะเริ่มฝึกลูกๆให้รู้จักการออมจึงควรสรรหากระปุกออมสินที่มีลวดลายตัวการ์ตูนที่ลูกชอบ มีลูกเล่นต่างๆ หรือมีลวดลายที่ดึงดูดใจลูกๆมาใช้เป็นตัวช่วยในการฝึกเรื่องการออมให้แก่ลูกๆค่ะ นอกจากนี้กระปุกในแบบที่ลูกๆถูกใจนั้นยังช่วยสร้างแรงกระตุ้น แรงจูงใจที่ทำให้เขาอยากจะเก็บออมได้เป็นอย่างดีอีกด้วยค่ะ

การสอนให้ลูกๆที่ยังเล็กให้หยอดกระปุกนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มต้นจากการให้เหรียญที่ได้รับทอนตอนไปซื้อของให้กับลูกๆใช้ในการหยอด หรืออาจจะใช้เงินที่ได้จากญาติผู้ใหญ่ที่ให้มานำมาใช้ในการหยอด และการหยอดกระปุกนั้นควรให้เขาทำการหยอดเองค่ะ เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างตัวเขากับกระปุกของเขา และยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้เขาอยากหยอดเงินเพิ่มในครั้งต่อๆไป เพราะมีความรู้สึกอยากให้กระปุกนั้นเต็มเร็วๆค่ะ ในช่วงแรกๆคุณพ่อคุณแม่คงต้องเป็นผู้ชักจูงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เขาหยอดกระปุก แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่นั้นชักจูงเป็นประจำสม่ำเสมอแล้วนั้น เด็กๆจะรู้ไปเองค่ะว่าการหยอดกระปุกนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ตรงนี้เองจะเป็นการช่วยให้ฝึกเขาในเรื่องของวินัยในการออมเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีของนิสัยรักการออมในอนาคตแก่เขาค่ะ

3.อยากได้ต้องรู้จักเก็บออม

3.อยากได้ต้องรู้จักเก็บออม

เมื่อลูกๆรู้จักและคุ้นเคยกับการหยอดกระปุกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนถัดไปนั่นคือ การสอนให้ลูกๆได้รู้ถึงประโยชน์จากการออมที่เขาจะได้รับ สอนถึงการตั้งเป้าหมายอย่างง่ายๆในการเก็บออม เช่น หากคุณพ่อคุณแม่ทราบลูกๆอยากได้ของเล่นอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรจะบอกให้เขาทำการหยอดกระปุกเพื่อนำเงินออมไปซื้อตามที่เขาตั้งใจด้วยตนเองค่ะ  ซึ่งในช่วงแรกนี้นี้คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากเป้าหมายเล็กๆ เป็นของที่ราคาไม่แพงมากจนเกินไปนะคะ เพื่อที่จะให้เขาไม่เกิดความท้อแท้จนเกินไปในระหว่างการออม และรู้สึกว่าตัวเองสามารถไปถึงเป้าหมายได้แบบไม่ยากค่ะ เพราะมื่อเขาสามารถทำได้ตามเป้าหมายแล้ว จะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง มองเห็นประโยชน์ในการเก็บออม  ว่าการเก็บออมเกิดผลดีกับเขาอย่างไร นอกจากนี้ยังช่วยให้เขารู้จักคุณค่าและรักษาของที่ตนเองได้มามากขึ้นอีกด้วยค่ะ เป็นการสร้างให้เกิดทัศคติที่ดีในการเก็บออม เพื่อที่จะนำไปสู้นิสัยรักการออมที่ดีติดตัวไปในอนาคตค่ะ

4.ให้ลูกบริหารเงินเอง

4.ให้ลูกบริหารเงินเอง

การฝึกให้ลูกบริหารเงินเองตั้งแต่ยังเล็กนั้น คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเริ่มสงสัยกันแล้วว่าจะฝึกอย่างไร และควรเริ่มที่อายุเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมใช่ไหมคะ ซึ่งจริงๆแล้วคำตอบนั้นก็ไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรตายตัวว่าจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้มาใช้ชี้วัดว่าควรเริ่มเมื่อไหร่ และเริ่มอย่างไรจึงจะถูกต้องค่ะ เพราะในแต่ละบ้าน แต่ละโรงเรียนที่เด็กๆแต่ละคนใช้ชีวิตนั้นมีความแตกต่างกันค่ะ เราจึงควรดูปัจจัยอื่นๆเป็นองค์ประกอบเข้าร่วมไปด้วย เพื่อที่จะบอกได้ว่าลูกของเรานั้นเหมาะกับช่วงไหนที่จะเริ่มต้นการฝึกให้ลูกบริหารเงินเองค่ะ เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ช่วงเวลาที่โรงเรียนอนุญาตให้เด็กนำเงินไปเพื่อซื้ออาหาร ขนมรับประทานเอง มาเป็นช่วงที่เหมาะสมในการเริ่มฝึกในเรื่องนี้ก็ได้ค่ะ

การให้ลูกบริหารเงินเองตั้งแต่ยังเล็กนั้น ถ้าเด็กยังเล็กคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มแบบประจำวันไปก่อนค่ะ เช่น อาจให้ค่าขนมรายวัน และสอนให้รู้ว่าเมื่อได้รับเงินมาก็ให้หักเก็บเงินใส่กระปุกไว้ส่วนหนึ่งก่อนทันที ในส่วนของเงินที่เหลือให้ใช้จ่ายให้ได้ภายใต้งบประมาณที่มีค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตการใช้จ่ายในแต่ละวันของลูกไปในตัวด้วยนะคะ เพื่อที่จะได้สอนในเรื่องการใช้จ่ายตามความจำเป็น หรือตามใจตนเองไปในตัวได้อีกเรื่องด้วยค่ะ เมื่อลูกๆนั้นทำได้ดี และสามารถทำได้เองอย่างต่อเนื่องแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรชมเชย หรือให้รางวัลเล็กๆน้อยๆแก่ลูกๆเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเขาค่ะ

5.กระปุกเต็มแล้วต้องทำอย่างไรต่อ

5.กระปุกเต็มแล้วต้องทำอย่างไรต่อ

เมื่อลูกๆหยอดกระปุกจนเต็มแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำต่อไปนั่นคือ การให้ลูกมีส่วนร่วมในการแกะกระปุกออกมานับจำนวนเงินค่ะ ตรงนี้อาจเกิดคำถามสำหรับคุณพ่อคุณแม่ว่า “จำเป็นไหมที่ต้องให้ลูกมาร่วมนั่งนับเงินในกระปุกด้วย?” ก็ขอตอบได้ทันทีเลยล่ะค่ะว่า “จำเป็น และจำเป็นมากด้วยค่ะ” เพราะนี่เป็นขั้นตอนที่จะทำให้เขารู้และเข้าใจว่าเงินทั้งหมดจะถูกนำไปไหนค่ะ เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่นำมาทำเองจัดการเอง อาจทำให้ลูกที่ยังเล็กนั้นเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าคุณพ่อคุณแม่เอาเงินของเขาไปจากกระปุกจนหมดเกลี้ยง และจะพาไม่อยากเก็บออมอีกต่อไป เพราะเข้าใจว่าเก็บไปคุณก็เอาของเขาไปได้ค่ะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เขาควรมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ทุกครั้งค่ะ

การเข้ามามีส่วนร่วมของลูกในการจัดการกระปุกที่เต็มนั้น นอกจากขั้นตอนของการนับจำนวนเงินแล้ว ก็ต้องรวมไปถึงการพาลูกไปเปิดบัญชี ทำการฝากด้วยตัวเองที่ธนาคารในทุกๆครั้งอีกด้วยค่ะ เพื่อที่เขาจะได้ทราบว่าเมื่อกระปุกถูกนับแล้วนั้นเงินของเขาจะถูกนำไปที่ใด เพื่ออะไร ซึ่งตรงนี้ก็ต้องอาศัยคุณพ่อคุณแม่อธิบายควบคู่ไปด้วยนะคะ เมื่อเขาเห็นสมุดบัญชีเป็นชื่อตนเอง จำนวนเงินที่ฝากตรงตามที่นับไว้ เขาก็จะเกิดความภูมิใจในตัวเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างนิสัยที่ดีในการออมต่อๆไปด้วยค่ะ นอกจากที่ลูกได้เรียนรู้ในเรื่องการจัดการกับกระปุกที่เต็ม เรื่องของการฝากเงินที่ธนาคารแล้ว เขาก็ยังจะได้เรียนรู้ถึงค่าของเงินของจริงในแต่ละแบบตอนที่นั่งนับไปพร้อมๆกันได้อีกด้วยค่ะ นับว่าเป็นกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวที่สร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะะค่ะ

6.รู้จักเก็บก็ต้องรู้จักให้

6.รู้จักเก็บก็ต้องรู้จักให้

การเก็บออมเป็นนิสัยที่คุณพ่อคุณแม่ต่างอยากจะปลูกฝังให้แก่ลูกๆติดตัวไว้เพื่อที่อนาคตจะได้ไม่ลำบากใช่ไหมคะ แต่การตั้งหน้าตั้งตาเอาแต่เก็บออมเพื่อเป้าหมายเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียวนั้นก็คงไม่สามารถจะช่วยให้ลูกมีความสุขในอนาคตได้ เพราะคุณพ่อคุณแม่เองก็คงจะเข้าใจชีวิตได้ดีว่า การจะมีชีวิตที่มีความสุขได้นั้น มีเงินเพียงอย่างเดียวก็คงยังไม่พอ การฝึกให้ลูกได้รู้จักถึงการเป็นผู้ให้จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องฝึกฝนควบคู่ไปด้วยค่ะ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นถึงพัฒนาการที่ดีของลูกๆในเรื่องการออมแล้ว การเริ่มฝึกในเรื่องของการรู้จักเป็นผู้ให้ก็ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วล่ะค่ะ เรื่องนี้อาจเริ่มต้นฝึกให้ลูกง่ายๆ ด้วยการแบ่งเงินบางส่วนที่แยกออกมาก่อนเข้าฝากธนาคาร ให้ลูกได้ใช้ความคิดว่าเขาจะนำเงินก้อนนี้มาทำให้เป็นผู้ให้ได้อย่างไรได้บ้าง ซึ่งตรงนี้คุณพ่อคุณแม่อาจแนะแนวทางให้กับลูกๆค่ะ เช่น อาจนำเงินเข้าร่วมบริจาคในงานศาสนาที่นับถือ หรืออาจนำเงินไปซื้อ หรือทำขนมไปฝากคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย คุณครู เพื่อนๆ เป็นต้นค่ะ ซึ่งหากลูกทำได้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการเป็นผู้ให้ในอนาคตด้วยค่ะ

เริ่มต้นดี ก็ไปได้สวย

เริ่มต้นดี ก็ไปได้สวย

เมื่อเราได้ติดตามกันมาถึงตรงนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจเกิดไอเดียในการสอนลูกๆให้มีนิสัยรักการออมในแบบที่ถูกต้องได้ไม่ยากกันอีกต่อไปแล้วใช่ไหมคะ และการที่ลูกมีนิสัยรักการออมได้นั้นจะต้องอาศัยเวลาค่อนข้างนานในการปลูกฝังที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใช้ความอดทน การทำอย่าต่อเนื่อง และสม่ำเสมอค่ะ การสร้างนิสัยรักการออมนี้ยิ่งหากคุณเริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กนับว่าเป็นข้อที่ได้เปรียบให้กับลูกในวันข้างหน้า เหมือนคำที่กล่าวไว้ว่า “การเริ่มต้นที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ค่ะ