ถ้าเรากำลังมองหา การมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ทั้งการตัดสินใจเพื่อซื้อบ้านสักหลัง หรือ มองหาคอนโดสักห้อง ล้วนต่างต้องใช้เงินก้อนใหญ่กันทั้งนั้น เงินสดและความพร้อมเรื่องจ่ายค่าบ้านที่สูงหลักหลายล้าน การยื่นขอกู้สินเชื่อบ้านจากธนาคารย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่า. แต่ในการยื่นกู้สินเชื่อกับทางธนาคารนั้น แน่นอนว่าเราคงต้องถูกตรวจสอบคุณสมบัติหลายอย่างในเรื่องของความสามารถในการผ่อนชำระ และเครดิตบูโรย้อนหลัง ด้วย

แต่สิ่งสำคัญหลักจริงๆ ที่ธนาคารจะใช้ในการพิจารณาก็คือ “อาชีพ” ของผู้กู้ เพราะเป็นตัวบ่งบอกถึงเรื่องความมั่นคงและความสม่ำเสมอของแหล่งรายได้ เราจะลดความกังวลตรงส่วนนี้ได้อย่างไร เพื่อทำให้กู้ผ่านง่ายขึ้น บทความนี้ จะมาแจกแจงให้ฟังกันแต่ละแนวไปเลยจ้า

อาชีพฟรีแลนซ์

อาชีพฟรีแลนซ์

สิ่งแรกที่สายฟรีแลนซ์ต้องมี คือแสดงให้รู้ว่า งานที่เราทำอยู่คืองานอะไร โดยอาจใช้พวก เอกสารที่บ่งบอกสายงานอาชีพ เช่น บัตรประจำตัววิชาชีพ ใบอนุญาตขาย หนังสือสัญญาว่าจ้าง หรืออาจให้ทางบริษัทที่จ้างอยู่ ช่วยออกหนังสือรับรองการจ้างงานให้เรา เพื่อสามารถใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอกู้เพื่อซื้อบ้านกับทางธนาคารได้

สำหรับการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้ เพื่อเปรียบเทียบกับภาระหนี้ผ่อนทั้งหมด ตามเกณฑ์ของธนาคาร เราก็ต้องมีเอกสารที่แสดงรายได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไร เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ใบเสร็จที่ได้รับจากบริษัทที่เราทำงานให้  ในช่วง 6 เดือนย้อนหลังเป็นอย่างน้อย รวมถึง พวกหลักฐานการเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็น ภงด. 90 การเดินบัญชีย้อนหลัง หรือStatement เป็นต้น

ทำกิจการของครอบครัว

ทำกิจการของครอบครัว

การทำงานกับครอบครัว เราก็ควรมีการรับเงินแบบผ่านระบบบัญชีเงินเดือน หรือ Payroll ที่มีไว้เพื่อการจ่ายเงินแบบโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่ลูกจ้างหรือพนักงานเปิดไว้กับธนาคาร แล้วในสมุดบัญชีเงินฝากก็จะมีรหัส (Code) เป็นรหัสเฉพาะของ Payroll ตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งจะไม่เหมือนกับรหัสการโอนเงินเข้าบัญชีแบบทั่วๆ ไป เมื่อเราขอรายการเดินบัญชีย้อนหลัง หรือ Statement จากบัญชีนี้ ก็จะใช้เป็นหลักฐานในการยื่นกู้ซื้อบ้าน เพื่อยืนยันรายได้และการทำงานได้

เอกสารการยืนยันอื่น ก็ต้องเตรียมพร้อม เพื่อแสดงรายได้และยืนยันการทำงานกับกิจการของครอบครัว แบบเดียวกับพนักงานประจำ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน เอกสารการเสียภาษี และรายการเดินบัญชีย้อนหลัง เพื่อพิสูจน์ให้ธนาคารเห็นว่า เรามีการทำงานจริง และมีรายได้จากเงินเดือนอย่างสม่ำเสมอ โดยอยากแนะนำเพิ่มเติมว่า ก่อนการซื้อบ้านก็ควรเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 20% ของราคาบ้านก่อน เพื่อจ่ายค่าเงินดาวน์ และการสำรวจภาระหนี้ทั้งหมด ต้องผ่อนไม่เกิน 40% ของรายได้ด้วย

ข้าราชการหรือพนักงานวิสาหกิจ

ข้าราชการหรือพนักงานวิสาหกิจ

อาชีพนี้ เป็นอาชีพที่ธนาคารต้องการ เพราะมีความมั่นคงสูง โอกาสที่จะถูกปลดก็มีค่อนข้างน้อย จึงมีการผ่อนชำระที่มั่นคง โอกาสกู้ผ่านจึงมีสูงมาก. ใครทำงานแนวนี้ ย่อมจะได้รับแพ็คเกจสินเชื่อบ้านแบบดอกเบี้ยพิเศษที่ถูกกว่าอาชีพอื่นแน่นอน เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีแพ็คเกจสำหรับลูกค้ากลุ่มสวัสดิการไม่มีเงินฝาก โดยปีที่ 1 มีอัตราดอกเบี้ย 3.00%, ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 4.50% และปีที่ 3 เป็นต้นไป มีอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ซึ่งน้อยกว่าลูกค้ากลุ่มทั่วไปมากทีเดียว เราจึงไม่ควรลืมที่จะศึกษาแพ็คเกจจากธนาคารรัฐอย่าง ธอส. ที่ต้องการสนับสนุนให้ข้าราชการมีบ้านได้ง่ายขึ้นแบบนี้ด้วย

พนักงานบริษัทเอกชน

พนักงานบริษัทเอกชน

สายนี้ก็ยังเป็นอีกกลุ่มที่ธนาคารมองว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงให้โอกาสในการปล่อยกู้สินเชื่อบ้านที่สูง เพราะแม้จะมีโอกาสถูกลดเงินเดือน การให้ออก หรือบริษัทปิดตัวลง แต่พนักงานบริษัทก็มักจะไม่มีหนี้สินจากการทำธุรกิจ. โดยเราสามารถมองหาแพ็คเกจสินเชื่อได้จากหลายธนาคารเลยแล้วลองเปรียบเทียบในเรื่องความคุ้มค่า

องค์กรเอกชนที่มีสัญญาเป็นลูกค้ากลุ่มสวัสดิการ พนักงานก็จะได้รับดอกเบี้ยที่ดีกว่าลูกค้าทั่วไป เช่น ธนาคาร ธอส. จะจ่ายดอกเบี้ยปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย 3.25% ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 4.50% และปีที่ 3 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% หรืออย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ตามสัญญา จะช่วยจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนให้กับพนักงานบางกลุ่ม เช่น เชฟรอน, ฤทธา, เอสซีจี, ไอบีเอ็ม, ซัมซุง, แสนสิริ หรือเครือสหพัฒนพิบูล เป็นต้น ดังนั้น เราจึงต้องตรวจสอบองค์กรที่สังกัดดูก่อนว่า มีสิทธิสวัสดิการพนักงานในการกู้ซื้อบ้านส่วนนี้หรือไม่

กลุ่มวิชาชีพพิเศษ

กลุ่มวิชาชีพพิเศษ

อาชีพกลุ่มนี้ ได้แก่ แพทย์, ทันตแพทย์, สัตวแพทย์ และเภสัชกร ที่ถือว่าจะมีความมั่นคงสูงและรายได้ค่อนข้างดีมาก ในส่วนของธนาคารหลายแห่งจึงมีแพ็คเกจสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยที่ถูกเป็นพิเศษ เพื่อจูงใจกลุ่มคนกลุ่มนี้  โดยบางแห่ง ก็จะรวมนักกายภาพบำบัด และนักเทคนิคการแพทย์ไว้ด้วย และเปิดสินเชื่อบ้านสำหรับอาชีพพิเศษ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์

นอกจากนี้ วิชาชีพ นักบินพาณิชย์  ก็จะมีระบุในแพ็คเกจพิเศษของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารกรุงเทพ หรือ วิชาชีพผู้พิพากษาและอัยการ ก็สามารถใช้สิทธิพิเศษที่ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึง วิชาชีพอย่าง อาจารย์มหาวิทยาลัย และระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ขึ้นไปด้วยที่มีสินเชื่อพิเศษจากธนาคารไทยพานิชย์. ท่านใดที่สนใจ จึงสามารถตรวจสอบแพ็คเกจสินเชื่อบ้านในธนาคารต่าง ๆ ได้ เพื่อตัวเลือกที่ดีที่สุด

อาชีพไหนๆ ก็ไม่ต้องกังวล สินเชื่อบ้านไม่ยากถ้าเราเตรียมตัวสักหน่อย

อาชีพไหนๆ ก็ไม่ต้องกังวล สินเชื่อบ้านไม่ยากถ้าเราเตรียมตัวสักหน่อย

จะเห็นว่า ไม่ว่าเราสายไหน หากใครที่มีแผนที่จะกู้ซื้อบ้านก็อย่าลืมตรวจสอบความพิเศษในวิชาชีพของตนกันก่อน หรือพวกสิทธิสวัสดิการพนักงานพิเศษ แล้วก็ลองเตรียมเอกสารขอสินเชื่อบ้านต่าง ๆ ให้ครบถ้วนก่อนยื่นกู้ โดยอาจจะต้องสอบถามกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร ถึงเอกสารต่าง ๆ ที่เราอาจจะต้องเตรียมเพิ่มเติมเพื่อความรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ รายได้ ภาระหนี้ในปัจจุบัน หรือประวัติของการผ่อนชำระที่ผ่านมาของแต่ละบุคคลในเครดิตบูโร

โดยแต่ละธนาคารนั้น ต่างก็มีแนวทางและหลักเกณฑ์การปล่อยกู้สินเชื่อบ้านแบบที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ถ้าเรากำลังมองหาว่าจะขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านกับธนาคารไหนดี ก็อย่าลืมลืมพิจารณาเรื่องอาชีพของเราให้ดี มีช่องว่างตรงไหนก็อุดตรงนั้น แล้วจับคู่กับธนาคารที่ใช่ เพื่อเราจะได้รับการอนุมัติผ่านง่ายกว่า และได้อัตราดอกเบี้ยในแบบที่ดีที่สุดด้วยนั่นเอง