โดยปกติทั่วไปมนุษย์เงินเดือนจะเกษียณกัน เมื่ออายุครบ 60 ปี ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนบางที่ ได้วางกฏระเบียบให้พนักงานเกษียณทันทีที่ 50-55 ปี หรือคนสมัยใหม่บางคนก็วางเป้าหมายการเกษียณให้กับตัวเองไว้เร็วกว่านั้น จึงเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ คนไทยมีแนวโน้มที่จะเลื่อนเวลาการเกษียณอายุเร็วขึ้น เพราะอยากใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองคิดและวางแผนไว้ ตั้งแต่อายุยังน้อย และมีหลายคนเริ่มไม่สนุกกับการหาเช้ากินค่ำแล้ว อยากพักผ่อนกับครอบครัวมากขึ้น แต่ก่อนที่หลายคนอยากปลดระวางตัวเองให้เร็วที่สุด กลับเป็นตัวบริษัทหรือองค์กรเองที่ต้องมารับมือกับปัญหานี้แทน คือการตรวจสอบความพร้อมของบริษัทในการที่อาจจะมีลูกจ้างหรือพนักงานจำนวนมากที่จะต้องปลดเกษียณตามกาลเวลา.

เพราะการเตรียมความพร้อมเพื่อเกษียณอายุถือเป็นการวางแผนชีวิตและบริษัทอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง หากมีการวางแผนที่ดีก็ทำให้ผู้เกษียณอายุสามารถปรับตัวต่อบทบาทที่เปลี่ยนแปลงได้และมีความพึงพอใจในชีวิตหลังเกษียณ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี และมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งลดภาระของครอบครัวและของรัฐที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการป้องกันปัญหาอันเกิดจากวัยสูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ภาพรวมขององค์กรหรือบริษัทของเรามีภาพที่ดีใสังคมด้วย ดังนั้น ควรวางแผนอะไรบ้าง มาดูกัน

การเตรียมเงินก้อนหลังเกษียณ

การเตรียมเงินก้อนหลังเกษียณ

สิ้นเดือนกันยายนถือเป็นวันสุดท้ายในการทำงานของข้าราชการที่อายุครบ 60 ปี หรือที่เรียกว่าเกษียณอายุราชการ แต่สำหรับพนักงานบริษัทเอกชนมักจะกำหนดการเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือสิ้นปีปฏิทิน แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละบริษัท ซึ่งเมื่อบริษัทมีพนักงานจะเกษียณอายุ เราจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้างเมื่อพนักงานเกษียณอายุ

  • ตัวบริษัทเองจะต้องระบุวันเกษียณอายุของพนักงานให้ชัดเจนว่า พนักงานจะเกษียณอายุเมื่อใด และมีผลในวันใด เช่น “พนักงานที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ในปีใด ให้เกษียณอายุในวันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น เป็นต้น

  • จะต้องมีการวางแผนหาพนักงานมาทดแทน อีกทั้งดูแลการถ่ายทอดความรู้ในงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานเกษียณล่วงหน้า เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่สะดุด

  • มีการดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 ซึ่งจะได้ตามอายุการทำงานของพนักงาน เช่น ทำงานมาครบ 10 ปีขึ้นไป จะได้ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน หรือ 10 เดือน เป็นต้น

  • มีการเช็คเรื่องการพ้นสภาพการเป็นพนักงานของบริษัท หรือการสิ้นสุดสัญญาจ้างพนักงานในกรณีนี้ ไม่ใช่การเลิกจ้าง บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องมีค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากการเกษียณอายุ มีข้อบังคับฯ กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาจ้างที่ชัดเจน

  • มีค่าชดเชยพิเศษ หรือเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ขึ้นอยู่กับนายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ไม่มีกฎหมายระบุ หรือบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยบางบริษัทอาจมีสวัสดิการอื่น ๆ สำหรับพนักงานเกษียณอายุ แล้วแต่นโยบายของแต่ละบริษัท เช่น มีโครงการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , Stock Exchange หรือ Profit Sharing

  • มีการวางแผนการดำเนินชีวิตหลังเกษียณได้อย่างราบรื่นด้วย เช่น เงินบำเหน็จบำนาญจากกองทุนประกันสังคม (เงินออมชราภาพ) การออม การลงทุน/ประกันชีวิต เช่น กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF)/กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)/การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ/แผนประกันชีวิตหลังเกษียณอายุจากบริษัทประกันทั่วไป ก็จะดีมาก

แม้ว่านายจ้างในภาคเอกชนในประเทศไทยก็ไม่มีการกำหนดอายุเกษียณแน่นอนสำหรับลูกจ้าง ยกเว้นบางบริษัท ยิ่งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ส่วนใหญ่ไม่มีการทำสัญญาจ้างและไม่มีกำหนดเวลาเกษียณเพื่อให้ลูกจ้างทำงานต่อไปเรื่อยๆ ถ้าใครทำไม่ไหวก็ลาออกไปเอง เพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยนั้น แต่ความจริงแล้วมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 โดยมาตรา 6 ให้เพิ่มประเด็นต่อไปนี้เป็นมาตรา 118/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คือ

  • การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง

  • ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ เกษียณอายุนั้น

ยกเว้น การ “สมัครใจลาออก” เอง เพื่อเจรจาไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างเนื่องจากการเกษียณอายุ เท่ากับเป็นการไม่ปฏิบัติกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามมาตรา 118 และ 118/1 มีโทษทางอาญาและทางแพ่ง โดยโทษอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษทางแพ่ง ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยผิดนัดชำระในการจ่ายค่าชดเชยในอัตรา 15% ต่อปี และถ้าจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 15% ทุกๆ ระยะ 7 วัน เลยด้วย

ส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร

ส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร

อย่างที่ทราบกันว่า ไม่นานมานี้มีข่าวเรื่องบริษัท CPF กำไรทรุดลงถึง 30% หลังต้องตั้งสำรองเลิกจ้างกว่า 1.8 พันล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ในอีก อีก 10-15 ปี จะมีจำนวนคนที่เกษียณจากระบบการทำงานเยอะขึ้น ยิ่งจำนวนคนที่เกษียณมากเท่าไร   ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเงินเกษียณมากขึ้นเท่านั้นและหาก ไม่ได้เตรียมให้ดีก็จะโดนฟ้องร้องได้ถึงขั้นล้มละลายได้ด้วย. ด้วยเหตุผลจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เป็นการยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้นายจ้างจะต้องควักเงินในกระเป๋าออกมาจ่ายให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดย พ.ร.บ ได้มีการเพิ่มเพิ่มอัตราค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างให้กับลูกจ้างเป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา ดังนี้

  1. ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน
  2. ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน
  3. ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน
  4. ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน
  5. ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปีได้เงินชดเชย 300 วัน
  6. ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 400 วัน

ซึ่งคลอบคลุมถึงการที่ ถ้าลูกจ้างเกษียณอายุ 60 ปี หรือ ขึ้นอยู่กับนายจ้างกำหนด นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยด้วย เพราะการเกษียณของลูกจ้างแบบนี้เป็นการเลิกจ้างด้วย เช่น นาย A  มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ทำงานกับนายจ้าง ตั้งแต่อายุ 30 ปี และเกษียณ 55 ปี แสดงว่า ทำงานไป 25 ปี ดังนั้นจะต้องได้รับค่าชดเชย 400 วัน หรือ ประมาณ 13 เดือน เงินเดือน 20,000 x 13 เดือน = 260,000 บาท บางคนอาจจะคิดว่าถูกต้อง แต่ไม่ใช่ !! เป็นเพราะ เงินเดือนจะเป็นเงินเดือนในอนาคต ถ้าอัตราขึ้นเงินเดือน 2%  เงินเดือนตอนอายุ 55 จะเป็น 32,812 บาท ดังนั้น เงินชดเชยจะเป็น 32,812 x 13 = 426,556 หากมีคนเกษียณ 10 คน / ธุรกิจจะต้องจ่ายเงิน 4.2 ล้าน , หากมีคนเกษียณ 20 คน / ธุรกิจจะต้องจ่ายเงิน 8.4 ล้าน หรือ มีคนเกษียณ 50 คน / ธุรกิจอาจต้องจ่ายถึง 20 ล้าน!!! เลยทีเดียว

ดังนั้น นี่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่บริษัทจะต้องหาแผนการและทางออกเตรียมไว้บ้าง หากในอนาคตจะมีลูกจ้างเกษียณออกมาจำนวนมาก บริษัทอาจจะต้องมีการตั้งเงินสำรองเป็นเงินกองทุนของบริษัทเพื่อเอาไว้จ่ายลูกจ้างในอนาคต โดยปัจจุบันนี้ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทมหาชน จะใช้มาตรฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 19 (TAS 19) เรื่องผลประโยชน์พนักงาน ที่ใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวณดังกล่าวเพื่อตั้งสำรองให้เหมาะสม ส่วน SME หรือเจ้าของธุรกิจรายย่อยอย่างเราก็คงจะต้องเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาจุดนี้อย่างไรด้วย เมื่อมีการส่งต่อธุรกิจให้ทายาท ก็ควรจะมีแผนจัดการความเสี่ยงก่อนด้วยเช่นกัน

วิธีรับมือ

วิธีรับมือ

เราจะต้องมีแนวทางเชิงนโยบายเพื่อการเตรียมความพร้อมของผู้เกษียณอายุไว้เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งธุรกิจที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือ SME ต่างๆ หรือรัฐวิสาหกิจ และสำรวจประเด็นดังต่อไปนี้

  • ด้านเศรษฐกิจ เราควรมีการสนับสนุนให้พนักงานมี การออมเงินและมีการปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อให้พนักงานจะมีครอบครัวหรือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และไม่เป็นภาระต่อบุตรหลานในอนาคตในช่วงที่เกษียณอายุไปแล้ว และเป็นการช่วยให้พนักงานมีสภาพจิตใจที่ดีด้วย

  • ด้านสังคม อาจจะมีการส่งเสริมให้พนักงานที่อยู่ในช่วงใกล้เกษียณอายุ มีการเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์ เพื่อให้พนักงานมีความรู้สึกภาคภูมิใจ ในการที่ได้อยู่ในสังคมมีการยอมรับนับถือในสังคม หรือมีการจัดโครงการอบรมถ่ายทอดความรู้จากบุคลากรที่ใกล้เกษียณให้แก่พนักงานที่มีอายุน้อยกว่า เพื่อให้เกิดความรู้สึกดี เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมต่อไป

  • ด้านจิตใจ และสุขภาพ ก็มีบริษัทจำนวนมากที่มีการตรวจสุขภาพประจำทุกปี และนอกจากนี้ยังมีนโยบายซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อดูแลในเรื่องของสุขภาพไว้ได้ด้วย

  • เนื่องจากคนที่ทำงานมาทั้งชีวิตเมื่อวันหนึ่งที่ไม่ได้ทำงานอีกต่อไปพวกเขาย่อมรู้สึกใจหาย ต้องปรับตัวจากการที่ต้องทำงานทุกวันกลายเป็นนั่งเฉย ๆ อยู่กับบ้าน  สิ่งที่พนักงานวัยเกษียณต้องการอาจเป็นเพียงการได้ช่วยเหลือองค์กรด้วยทุกอย่างที่พวกเขามี ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ ในการทำงานที่ตนเองได้เคยเผชิญมา และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่หาไม่ได้ง่าย ๆ จากพนักงานรุ่นใหม่

  • เมื่อพนักงานเก่าถึงวัยเกษียณ ทางบริษัทก็ต้องหาพนักงานใหม่มาทดแทน อาจจะเป็นการเลื่อนตำแหน่งพนักงานที่มีอยู่เดิมเพื่อมารับช่วงต่อ  นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าพนักงานหนึ่งคน โดยเฉพาะพนักงานที่มีทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิจะก้าวมารับตำแหน่งนี้ได้ พวกเขาจะต้องผ่านการทำงานมามากจนสั่งสมเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร  แต่ถ้าพนักงานวัยเกษียณสามารถทำงานต่อไปได้ บริษัทจะยิ่งได้ประโยชน์ เพราะพวกเขาก็แค่ทำงานต่อได้เลย ไม่จำเป็นต้องปรับตัวเหมือนพนักงานใหม่ สามารถขับเคลื่อนองค์กรต่อไป โดยไม่ต้องแสวงหาที่ไหนไกล นี่ก็แล้วแต่การตกลงและสมัครใจของทั้งสองฝ่าย  เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุผู้ทำหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ เปิดเผยว่าภาพรวมตลาดแรงงานของไทย ก็มีแรงงานที่มีอายุเกิน 60 ที่กำลังทำงานอยู่ โดยคิดคร่าว ๆ เป็นจำนวนเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์จากแรงงานไทยวัยเกษียณจำนวนทั้งหมด 10 ล้านคน

  • ส่งเสริมภาคธุรกิจได้ เช่น เริ่มเปิดโอกาสให้พนักงานเดิมสามารถทำงานได้นานขึ้นแม้จะอายุเลย 60 ปีไปแล้ว หรือเปิดรับพนักงานใหม่ในวัยเกษียณในอัตราที่มากขึ้น เช่น บริษัท กรุงเทพขนส่ง จำกัด มี 13 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานมีอายุมากกว่า 60 ปี หรือแม้แต่เขตนอกกรุงเทพมหานครก็เริ่มมีเทรนด์นี้เกิดขึ้นแล้ว โดยสาเหตุที่บริษัทชอบพนักงานอาวุโสมากกว่าเพราะพวกเขามีประสบการณ์ มีความสุขุม ใส่ใจในการทำงานมากกว่าเด็กรุ่นใหม่ พวกเขามีกรอบความคิดของคนรุ่นเก่าที่ให้ความสำคัญกับการทำงานในขณะที่คนรุ่นใหม่จะค่อนข้างให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าด้วย

  • ภาครัฐเองก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้  โดยรัฐบาลกำลังพิจารณาขยายเกณฑ์อายุการเกษียณของข้าราชการในบางตำแหน่งด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการตอบสนองต่อปัจจัยทางประชากรและเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการทำงานเพื่อการพัฒนาของประเทศ

  • กลุ่มธุรกิจ Startup ก็เช่นกัน ต่างหันมาสนใจในการจ้างพนักงานวัยเกษียณ เพราะพวกเขามีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลามากกว่าพนักงานปกติ สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับคุณในแต่ละก้าวของธุรกิจ การแต่งตั้งตำแหน่งพิเศษ เช่น ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน จะทำให้บริษัทของเราได้เปรียบคู่แข่งที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคอยให้คำปรึกษา และอาจเติบโตได้อย่างมั่นคงมากกว่ากลุ่มธุรกิจที่มีแต่คนรุ่นใหม่ด้วยกันเองได้

สรุป

เราจะเห็นว่า“เงินเกษียณของลูกจ้าง” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผลประโยชน์ของพนักงานหลังออกจากงาน” นั่นถือเป็นต้นทุนที่แฝงไว้อยู่ในแต่ละบริษัท เราจึงต้องประเมินมูลค่าต้นทุนนี้ให้ดี เพราะถ้าประเมินสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าได้ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเกิดปัญหาที่เห็นได้ เช่น ฟิตเนส California Wow หรือ เว็บดีลชื่อดังอย่าง Ensogo ที่ต่างมองข้ามต้นทุนแฝงบางอย่างไป ทำให้กว่าจะรู้ตัวบริษัทก็เจ๊งและปิดตัวไปเสียแล้ว ดังนั้น เมื่อมองถึงผลประโยชน์ของพนักงานแบบนี้ ผู้บริหารจึงควรต้องมาคิดด้วยว่าบริษัทของตัวเองกำลังทำกำไรอยู่จริงๆไหม โดยไม่ลืมว่ามีค่าใช้จ่ายยามเกษียณให้พนักงานของต้น ในวันข้างหน้าด้วย ซึงหากบริษัทไม่ยอมทยอยตั้งสำรองเอาไว้ในแต่ละปีให้ถูกต้อง ก็จะทำให้บริษัทขาดทุน หรือล้มละลายในอนาคตได้ จึงควรมีการประเมินค่าใช้จ่ายล่วงหน้าสำหรับมนุษย์เงินเดือนยามเกษียณ แล้วตั้งเป็นเงินสำรองมาใส่ลงไปในงบการเงิน เพื่อสะท้อนต้นทุนของการจ้างพนักงานให้ถูกต้อง ซึ่งงานที่มีความซับซ้อนและมีผลกระทบต่อบริษัทในระยะยาวแบบนี้ จะใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย เช่น การคำนวณเชิงสถิติ การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นจำนวนมาก มาประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดกับบริษัทในอนาคต มาช่วยได้ นี่จึงเป็นข้อมูลคร่าวๆ สำหรับสิทธิผู้เกษียณอายุ ที่บริษัทอย่างเราไม่ควรชะล่าใจ จึงต้องรู้จักวางแผนการเงินเตรียมพร้อมก่อนการเกษียณของลูกจ้าง เพื่อทำให้มีความสุขทั้งสองฝ่ายนั่นเอง