ชาวออฟฟิศหรือคนทำงาน ย่อมต้องเคยเช็คสุขภาพประจำปีกันอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้ว่าสุขภาพของตนอยู่ในเกณฑ์ไหน จะต้องรับมือกับโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นมั้ย และรู้จักวิธีดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้ดีอยู่เสมอ การ ‘เช็คสุขภาพทางการเงิน’ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันค่ะ!! เพราะ ‘สุขภาพทางการเงินที่ดี’ คือ การมีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิตในวันนี้ และเป็นรากฐานของความมั่นคงทางการเงินในวันหน้า เราจึงต้องเช็คสุขภาพทางการเงินของเรา และตรวจสอบเป็นระยะว่าการเงินของเราแข็งแรงดีมั๊ย กำลังเจ็บป่วยตรงไหนรึป่าว และจะต้องแก้ที่อะไรบ้าง
บทความนี้ จะช่วยคุณให้เช็คสุขภาพทางการเงินของตนให้รอบคอบขึ้น ด้วยด้วยเองค่ะ มีอะไรบ้างที่เราต้องรู้ มาดูแนวทางกันเลย
เครื่องมือช่วยเช็คสุขภาพทางการเงินของเรา
การเช็คสุขภาพทางการเงินของเราว่ายังดีอยู่รึป่าว ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดค่ะ ถ้าเรามีทางลัด คือ เครื่องมือที่ช่วยให้รู้ว่า ตรงไหนแข็งแรงดี และต้องไหนที่ยังบกพร่อง จึงต้องเสริมให้ดีขึ้น 3 อย่าง
1. เครื่องมือในการวัดความปลอดภัย
หากมีช่วงใดที่เราขาดรายได้ เหมือนสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เมื่อไม่มีงานเข้ามา เราจะสามารถใช้ชีวิตให้ไปต่อได้ในเวลาเท่าใด เครื่องมือนี้จะสามารถประมาณการณ์ได้จาก เงินออมหรือเงินฉุกเฉินในกระเป๋าของเราในอดีต แล้วคูณด้วยจำนวน 3-6 เดือน เพื่อให้ได้ตัวเลขเฉลี่ยที่เหมาะต่อเงินออมในปัจจุบัน เพื่อการใช้ชีวิตต่อไปได้แม้ขาดรายได้สักระยะหนึ่ง ยิ่งสะสมแต่เนิ่นๆ ก็ยิ่งช่วยให้สุขภาพทางการเงินของเราดีขึ้นเรื่อยๆค่ะ
2. เครื่องมือในการวัดสภาพคล่องทางการเงิน
สิ่งนี้รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ด้วย แม้เราจะใช้จ่ายเงินสดอยู่ในทุกๆวัน แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่า เรามีสินทรัพย์ที่จัดว่ามีสภาพคล่องหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้แค่ไหน เช่น เงินฝากในบัญชี กองทุนต่างๆที่ลงทุนในตลาดเงิน เราก็จะรู้ตัวเลขของ อัตราส่วนที่เหมาะกับสภาพคล่อง หารด้วย หนี้สินหมุนเวียนที่ต้องชำระแบบไม่เกิน1 ปี เช่น ยอดบัตรเครดิต การผ่อนสินค้าต่างๆ แล้วผลลัพธ์ที่เราได้ หากมากกว่า 1 เท่าไหร่ก็ยิ่งดี แต่ถ้าน้อยกว่า 1 คือ เรากำลังประสบปัญหาการเงินขาดสภาพคล่องแล้วล่ะ
เครื่องมือในการจัดการกับหนี้ระยะยาว
เริ่มจากการรู้ว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวได้มากน้อยแค่ไหน และรู้ว่าเราจะมีความมั่นคงของสินทรัยพ์ยาวนานแค่ไหนด้วย หลักการนี้ง่ายมาก คือการเอาสินทรัพย์ทั้งหมดที่มี ลบด้วย หนี้สินทั้งหมด แล้วเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่มีหนี้เลยค่านี้ก็จะอยู่ที่ 100% ถ้ามากกว่า 50% ขึ้นไป ก็ยังจัดว่าเรามีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน ชำระหนี้หมดก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าค่านี้ น้อยกว่า 50% ก็คือเราติดลบ และมีความเสี่ยงในการชำระหนี้ซะแล้ว
เครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินให้เราได้ และอาจเสริมทัพด้วยสินทรัยพ์ในการลงทุนเพิ่มเติม เช่น กองทุน หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ หรืออสังหาริมทรัพย์ เพื่อได้รับผลตอบแทนเข้ามา สิ่งนี้ก็จะช่วยเราหักลบหนี้สินที่มีให้หมดไปได้ และเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของสุขภาพการเงินที่ดีในระยะยาวแน่นอนค่ะ
วิธีในการการรักษาสุขภาพทางการเงินให้ดี และแก้ปัญหาได้ตรงจุด
เมื่อเรามีเครื่องมือเพื่อช่วยเช็คสุขภาพทางการเงินแล้ว ก็ต้องลงมือทำแบบประเมินสุขภาพเพื่อประโยชน์ด้านการเงินในแบบระยะยาวด้วย ใครมีสุขภาพการเงินเป็นอย่างไร ก็คำนวณได้จากสมการง่ายๆ ต่อไปนี้ค่ะ สมการแรก คือ สินทรัพย์ – หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ
โดยสินทรัพย์ ก็คือ เงินสดในบัญชีออมทรัพย์ หรือเงินที่เราใช้จ่ายหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน การลงทุนที่มีจากมูลค่าหุ้นโดยรวม สลากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ หรือสินทรัพย์ที่ครอบครองและมีมูลค่าอย่าง บ้าน ที่ดิน รถยนต์ หรือของมีค่าที่นำไปขายต่อได้
ส่วนหนี้สิน ก็รวมทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว เช่น หนี้บัตรเครดิต ยอดการผ่อนชำระสินค้า และบัตรเงินสดต่างๆ ไม่เกิน 1 ปี และพวกหนี้เงินกู้ ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ที่มีอายุสัญญามากกว่า 1 ปี
เช่น นายกอไก่ มี สินทรัพย์ 5,000,000 บาท หนี้สินอีก 1,000,000 บาท ความมั่งคั่งสุทธิ คือ 5,000,000 – 1,000,000 = 4,000,000
สมการต่อมา คือ อายุ x รายได้ต่อปี x 10% = ทรัพย์สินที่ควรมี
นายกอไก่ คนเดิม อายุ 30 ปี มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท เท่ากับ 30 x 360,000 x 10/100 = 1,080,000 บาท
เมื่อเราเอา ความมั่งคั่งสุทธิ เทียบกับ ทรัพย์สินที่ควรมี ก็จะได้ 4,000,000 : 1,080,000 ซึ่งหมายความว่า นายกอไก่ ก็มีความมั่งคั่งสุทธิที่สูงกว่าทรัพย์สินที่ควรมี เขาจึงมีสุขภาพการเงินโดยรวมที่แข็งแรงค่ะ
ส่วนโรคภัยเล็กๆน้อยๆ ที่อาจเป็นๆหายๆ อย่างไข้หวัด อาการเจ็บคอ ที่รักษาได้ไม่มีผลต่อชีวิตนัก แต่ไม่เป็นก็ดีกว่า ก็คือ ‘หนี้สิน’ เราก็สามารถเช็คว่า มีหนี้สินต่อเดือนมากไปหรือเปล่าได้จาก
รายได้ต่อเดือน x ⅓ = หนี้สินต่อเดือน
เช่น นายกอไก่ มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท หนี้จึงห้ามเกิน 10,000 บาท ถ้ามากกว่านี้ ก็จะต้อง เพิ่มรายได้ หรือ จำกัดค่าใช้จ่ายให้ลดลง
นี่ก็ถือเป็นสมการง่ายๆ แต่ช่วยเราเห็นผลจากการเช็คสุขภาพการเงินได้ของเราได้ดีทีเดียว ไม่เชื่อก็ลองทำตามดูสิคะ!
สุขภาพการเงินที่ต้องดูแลรักษา ไม่แพ้สุขภาพกายและใจ เพื่ออนาคตที่มั่นคงของเรา!
หลายคนคงเห็นภาพรวมสุขภาพการเงินของตนเองกันบ้างแล้ว ขอสนับสนุนนะคะ ให้ลองตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินของตัวเองอยู่เสมอ อาจทำได้ในทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อจะได้รู้ว่าเราเองมีข้อบกพร่อง หรือปัญหาทางการเงินตรงไหนที่ต้องรีบแก้รึป่าว ทั้งเรื่องเงินออม สภาพคล่องต่างๆ หนี้สิน และการลงทุนเพิ่มเติม สิ่งนี้ จะช่วยเช็คว่าไม่มีไวรัสทางการเงินตัวไหนๆ กำลังแฝงตัวเข้ามา และกัดกินเราอยู่
การได้รู้สถานะการเงินของตนในปัจจุบัน ก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนเพื่อรับมือต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นใจเหมือนคนสุขภาพดีไม่มีโรคภัยเบียดเบียนค่ะ พอรู้ปัญหาก็แก้ไขได้อย่างตรงจุดเสมอ เราก็จะห่างไกลจากคำว่าสายเกินไปได้อย่างแน่นอน สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ไม่แพ้สุขภาพร่างกาย-ใจ และมีอนาคตทางการเงินที่เข้มแข็งนะคะ
Dolla
ถ้าเช็คแล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงตัวอะไรก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเช็คแล้วรู้ว่าตัวเองมีปัญหาตรงไหน ก็ต้องปรับเปลี่ยน แก้ไข เรื่องการเงินนี้เป็นเรื่องที่จะต้องทำอย่างจริงจัง สำหรับใครที่ยังมีเวลาตอนนี้ ก็ควรจะต้องทำให้สุขภาพทางการเงิน ดีมากที่สุด ถ้าจะไปทำในช่วงก่อนวัยเกษียณไม่นานหรือในช่วงวัยเกษียณแล้ว ก็คงจะไม่ทัน
ปรียารัตน์
อ่านบทความนี้แล้วนึดถึงตอนที่เรียนสมัยเด็กเลย ที่ครู สอนเรื่อง บวก ลบ คูณ หาร บอกตามตรงเลยคะว่าวิชานี้เป็นอะไรที่เราเรียนแล้ว ไม่เข้าหัวเลยคะ ยิ่งถ้าเป็นพวกหาสมการด้วยแล้ว บอกได้คำเดียวเลยว่าจบกันคะ อะมาเข้าเรื่องที่เขียนดีกว่า เป็นการวางแผนที่ดีเลยคะ สำหรับเชคความพร้อมในเรื่องการเงินของเรา ยิ่งช่วงนี้ต้องเชคบ่อยๆ
Munin
สุขภาพทางการเงินไม่อยากจะเช็คเลยค่ะ เหมือนกับสุขภาพร่างกายเลยไม่ค่อยอยากจะไปตรวจเท่าไหร่ ไม่ได้ตรวจสุขภาพก็รู้สึกสบายใจกว่านะคะ ไม่ได้ตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินก็สบายใจกว่าด้วยไม่ต้องเครียด แต่ว่าดูๆบ้างก็ดีค่ะเพราะบางครั้งการที่เราไม่วางแผนเรื่องเงินเลย มันจะทำให้เราเดือดร้อนหรือเป็นปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต
Sunisa
บทความนี้ละเอียดมากเลย ช่วยให้มองเห็นภาพรวมได้มากขึ้น แต่พอไปลองคำนวณดูตามแล้วบอกเลยว่าสุขภาพทางการเงินตอนนี้ก็คงเหมือนสุขภาพทางร่างกายที่กำลังเจ็บป่วยอย่างหนักมั้ง แบบร่อแร่ใกล้ตายก็ว่าได้ 55555 สงสัยคงจะต้องหาวิธีที่จะฟื้นฟูสุขภาพทางการเงินให้ดีขึ้นแล้วมั้ง ขอบคุณบทความดีๆแบบนี้นะคะที่ช่วยเตือนสติในตอนที่ยังไม่สายไป
อาชาไนย
ช่วงโควิด-19แบบนี้ ไม่น่าจะต้องมาเชคกันแล้วละมั้งครับ เพราะผมคิดว่าเราทุกคนน่าจะทราบดีกว่าตัวเองประสบกับอะไรกันบ้าง อย่างของผมก่อนที่จะมีโควิด-19 ผมมีเงินเก็บ ประมาณ 2แสบาทครับ แต่ตอนนี้ โควิด-19 เข้ามา บ้านเรา2ปีแล้ว เงินที่เคยเป็นเงินเก็บตอนนี้ต้องเอาออกมาใช้แล้วละครับแล้วก็ยังไม่สามารถหาช่องทางนำกลับไปคืนที่เดิมได้เลยครับ
\kana/
น่าลองเช็คสุขภาพการเงินดูเหมือนกันนะครับ ช่วงนี้รู้สึกว่าสุขภาพ(การเงิน)ของผมค่อนข้างจะอ่อนแอ555 ขอบคุณที่แนะนำวิธีดีๆในการรักษาสุขภาพทางการเงิน หากพบปัญหาจะได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ตอนนี้คงสุขภาพไม่ค่อยดีกันหลายคนครับ รายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย อยากหางานทำเสริมจะได้มีรายได้เพิ่มอีก แต่มันช่างหางานยากเสียเหลือเกิน
ดนุพล
ช่วงนี้ผมไม่สร้างหนี้เลยครับ มีพวกบัตรเครดิต กับบัตรกดเงินสดนะครับ แต่ก็เก็บเอาไว้ก่อนครับ ไม่อยากต้องมาแบกภาระการจ่ายในช่วงนี้ครับ แล้วที่ดีคือบัตรเครดิตผมเป็นแบบที่ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปีครับ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องเสียอีก โควิด ต้องให้เงินอย่างมีสตินะครับ เพราะขืนเอาบัตรพวกนี้มาใช้ผมว่าจบแน่นอนเลยครับ