ทุกวันนี้ คนไทยหันมาซื้อรถยนต์กันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านความจำเป็นในการใช้งาน หรือด้านอื่นๆ โดยสิ่งนึงที่เจ้าของรถทุกท่านจะต้องเข้าใจและทราบรายละเอียดให้ดี ก็คือเรื่อง ‘การต่อภาษีรถยนต์’ หรือที่หลายคนเรียกง่ายๆ ว่า ‘การต่อทะเบียน’ ที่ต้องทำกันทุกปี หลังจากต่อ พ.ร.บ.เสร็จ นี่ล่ะค่ะ!

การต่อภาษีรถยนต์เพื่อได้มาซึ่ง ‘ป้ายสี่เหลี่ยม’ จากกรมการขนส่งทางบก มีความสำคัญขนาดไหน การต่อภาษีรถยนต์จะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ทำที่ไหน มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง รวมถึงวิธีแบบ New normal ที่เราสามารถทำเองได้ผ่านช่องทางออนไลน์ บทความนี้มีคำตอบ..

การต่อภาษีรถยนต์สำคัญตรงไหน

การต่อภาษีรถยนต์สำคัญตรงไหน

การต่อภาษีรถยนต์ เป็นค่าใช้จ่ายที่เจ้าของรถยนต์ทุกคนจะต้องชำระในทุกปี ทำนองเดียวกันกับภาษีเงินได้หรือภาษีส่วนบุคคล โดยเหตุผลที่เราจะต้องต่อภาษีรถยนต์ ก็เพราะเป็นการทำตามกฎหมายสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อสนุนหน่วยงานด้านคมนาคมให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดูแลพื้นที่ถนนหนทางที่เกิดการเสื่อมสภาพ ตัดถนนเส้นใหม่ๆ รวมถึงการปรับปรุงด้านคมนาคมในส่วนอื่นๆ

และหากเราไม่ทำการต่อภาษีรถยนต์ นอกจากเป็นการทำผิดกฎหมายพื้นฐานที่คนใช้รถต้องรู้แล้ว ผลที่ตามมายังมีมากกว่านั้นอีก ดังนี้

ต้องชำระค่าปรับ

ตามปกติแล้วเราสามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ก่อนทะเบียนหมดอายุ ไม่เกิน 3 เดือน แต่หากทำการต่อภาษีล่าช้าจะต้องชำระค่าปรับจำนวน 1% ของภาษีรถยนต์ต่อเดือน ยิ่งปล่อยไว้นานก็จะโดนค่าปรับย้อนหลังที่สูงขึ้นเรื่อยๆไปอีก

โดนระงับป้ายทะเบียน

รถยนต์ที่ไม่ได้ทำการต่อทะเบียนเกิน 3 ปี จะถูกกรมการขนส่งฯ ระงับทะเบียนทันที หากต้องการใช้รถคันเดิมจะต้องยื่นขอจดทะเบียนใหม่ ถึงจะได้รับการคืนป้ายทะเบียน พร้อมการชำระภาษีแบบย้อนหลังด้วย. หากรถของท่านใดจอดไว้ไม่ได้ใช้นานๆ จึงควรไปยื่นระงับใช้ชั่วคราวล่วงหน้าที่กรมขนส่งจะได้ไม่ต้องโดนภาษีในช่วงนั้นๆนะคะ

เสียค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติ่ม

นอกจากต้องชำระค่าปรับแล้ว หากใครไม่ทำการต่อภาษีรถยนต์เป็นเวลานาน ยังจะมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมเข้ามาด้วย เช่น ค่าตรวจสภาพรถ ค่าป้ายทะเบียนใหม่ หรือค่าเดินทาง ดังนั้น การยื่นต่อภาษีให้ตรงตามปกติเป็นประจำทุกปี จึงคุ้มมากกว่าเสียค่ะ แถมยังประหยัดเวลาเรากว่าอีกด้วย

ต่อภาษีรถต้องเตรียมอะไรบ้าง

ต่อภาษีรถต้องเตรียมอะไรบ้าง

สำหรับการต่อภาษีรถยนต์ก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแค่เราจะต้องทำการเตรียมเอกสารที่จำเป็นล่วงหน้า คือ

  1. หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ หรือเล่มทะเบียนรถยนต์ (หากรถยนต์ยังผ่อนไม่หมด, ติดไฟแนนซ์อยู่ ก็สามารถใช้ใบตัวแทนได้)
  2. เอกสารการต่อประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ)
  3. ใบรับรองการตรวจสภาพรถจากสำนักงานขนส่งจังหวัด หรือ สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ซึ่งได้รับการอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก

โดยถ้าเป็นการขาดต่อภาษีเกิน 3 ปี จะต้องเพิ่มเอกสารอื่นๆ ตามที่กรมขนส่งต้องการ เช่น สำเนาบัตรประชาชน หรือหลักฐานการระงับทะเบียน เป็นต้น โดยถ้าใครกลัวลืม.. ก็สามารถทำการต่อภาษีรถยนต์ล่วงหน้าได้ก่อนวันสิ้นอายุ ไม่เกิน 3 เดือน พร้อมกับการเตรียมเอกสารให้ครบทั้ง 3 ข้อแบบที่บอกไปค่ะ

ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์และค่าใช้จ่าย

ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์และค่าใช้จ่าย

ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี เราสามารถ ยื่นขอคำขอต่อทะเบียน หรือจดทะเบียนใหม่ ได้ที่กรมขนส่งทางบกใกล้บ้านทั่วประเทศ ในเวลาทำการ 07.30-16.30 น. โดยต้องทำการตรวจสภาพ หรือหากดำเนินการนอกกรมการขนส่ง จะต้องมีเอกสารในการตรวจสภาพรถมาด้วย ตามสถานที่ที่รับต่อภาษีรถยนต์. ตามมาด้วย การชำระเงินค่าธรรมเนียม แล้วก็สามารถรับหลักฐานการเสียภาษีได้เลย (หรือป้ายทะเบียน ในกรณีจดใหม่)

หรือเลือกทำการชำระภาษีได้ทั่วประเทศในสถานที่และช่องทางที่สะดวกเพิ่มเติม เช่น ธนาคาร ธ.ก.ส. สำหรับรถยนต์ที่ไม่มีภาษีค้างชำระ, ห้างBig C ใน 14 สาขา คือ ลาดพร้าว รามอินทรา รัชดาภิเษก อ่อนนุช สุขาภิบาล 3 สุวินทวงศ์ สำโรงสมุทรปราการ บางนา บางปะกอก บางบอน บางใหญ่ เพชรเกษม และ แจ้งวัฒนะ โดยเปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.

ห้างเซ็นทรัล รามอินทรา เวลา 10.00 - 17.00 น., ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เวลา 11.00 - 18.00 น., ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ถนนศรีนครินทร์ เวลา 10.00-17.00 น., ศูนย์บริการร่วมคมนาคมตรงเชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในวัน จ.-ศ. เวลา 08.30-15.00 น. และชำระได้ที่เซอร์วิสทั่วประเทศ

แต่.. หากเป็นการขาดต่อภาษีนานเกินเวลา 3 ปี จะต้องไปดำเนินการที่ขนส่งเท่านั้น รวมทั้งต้อง ต่อ พ.ร.บ. และตรวจสภาพรถที่นั่น พร้อมการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้รถก่อน แล้วจึงสามารถทำการต่อภาษีค่ะ

ค่าใช้จ่ายในการต่อภาษีรถออนไลน์

ค่าใช้จ่ายสำหรับการต่อภาษีรถยนต์ จะพิจารณาจัดเก็บภาษีรถตามความจุรถ โดยมีหน่วยเป็น ซีซี เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ท่าน มีอัตราค่าใช้จ่าย 600 ซีซีแรกราคา 0.50 บาท ซีซี ที่ 601 - 1,800 ราคาซีซีละ 1 บาท 50 สตางค์ และ เกิน 1,800 ซีซี ราคาซีซีละ 4 บาท ค่ะ หมายความว่า ยิ่งรถยนต์มีซีซีสูงเท่าไหร่ อัตราการเก็บภาษีก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนั้น ยังมีค่าจัดส่งเอกสารแบบทางไปรษณีย์ รายการละ 32 บาท, ค่าธรรมเนียมธนาคาร กรณีชำระผ่านเคาน์เตอร์บริการ/หักบัญชีเงินฝาก รายการละ 20 บาท หรือ ค่าธรรมเนียมหากเป็นการชำระด้วยบัตรเครดิต 2% และค่า VAT 7% ก็จะเป็นผลรวมของยอดเงินทั้งหมด ที่เราก็สามารถคำนวนเพื่อเตรียมเงินไว้ต่อภาษีรถยนต์ประจำปีค่ะ

วิธียื่นแบบออนไลน์

การยื่นชำระภาษีรถยนต์ สไตล์ New Normal ทางออนไลน์ ก็ทำได้โดยมีขั้นตอน แบบนี้ค่ะ

เข้าไปที่ช่องทางของกรมการขนส่งทางบก (https://eservice.dlt.go.th) หากเป็นสมาชิกใหม่จะต้องทำการ ลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่านก่อน > Login เข้าสู่ระบบ > เลือกเมนู ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี > กรอกรายละเอียดเพื่อการลงทะเบียนรถ และยื่นชำระภาษี > กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการทำ พ.ร.บ.

เลือกช่องทางการชำระเงินเพียง อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การหักจากบัญที่มีสัญลักษณ์ VISA , Master Cardชีเงินฝาก, การชำระผ่านบัตรเครดิต / บัตรเดบิต หรือ การชำระเงินโดย พิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถแล้วนำไปชำระเงินในภายหลัง

หลังจากนั้น สามารถตรวจสอบสถานะการดำเนินการยื่นชำระภาษี , สถานะการจัดส่งเอกสาร , หมายเลข EMS, เลขกรมธรรม์ หรือปัญหาจากการยื่นชำระ ได้ที่ ‘ตรวจสอบผลการชำระภาษี / เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน’

แล้วกรมขนส่งทางบก ก็จะจัดส่งเอกสาร ใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายแสดงการเสียภาษี หรือ กรมธรรม์ พ.ร.บ.ที่ทำการซื้อภายในระบบ ให้กับเราทางไปรษณีย์ ในระยะเวลาประมาณ 7-15 วันทำการ. หากอยากตามเรื่อง หรือเอกสารจัดส่งล่าช้า สามารถโทรไปเช็คได้ที่ สายด่วน 1548 ค่ะ

การต่อภาษีรถยนต์ทุกปีหน้าที่ของคนใช้รถ ที่ต้องทำความเข้าใจและทำให้ง่ายเข้าไว้!

การต่อภาษีรถยนต์ทุกปีหน้าที่ของคนใช้รถ ที่ต้องทำความเข้าใจและทำให้ง่ายเข้าไว้!

สรุปแล้ว เจ้าของรถทุกคันที่จะใช้งานบนท้องถนน หลังจากเราทำการ ต่อ พ.ร.บ. เรียบร้อยแล้ว ก็จะมาถึงคิว การต่อภาษีรถประจำปี หรือการต่อทะเบียนรถ (Vehicle Tax) ค่ะ เพื่อรับป้ายสีเหลี่ยมจากกรมการขนส่งทางบก จะได้ไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับปรับเอา โดยเราสามารถเลือกได้ที่จะทำการต่อล่วงหน้าได้ 3 เดือนก่อนจะถึงวันสิ้นอายุ. หากใครปล่อยให้ป้ายทะเบียนขาด นานวันเข้า ทะเบียนรถคันดังกล่าวจะถูกระงับพร้อมกับต้องเสียค่าปรับร้อยละ 1 % สะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการชำระด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเป็นรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี หรือขาดการต่อทะเบียนเกิน 3 ปี เราจะต้องทำการดำเนินเรื่องเพื่อตรวจสภาพรถที่สถานตรวจสภาพรถ เพื่อยื่นชำระภาษีที่สำนักงานขนส่งจังหวัดเท่านั้น ไม่สามารถยื่นต่อภาษีแบบช่องทางออนไลน์ได้. และพอได้รับป้ายสีเหลี่ยมกันมาแล้ว ก็อย่าลืมติดไว้หน้ารถตรงเพื่อให้เจ้าหน้าที่มองเห็นชัดเจนเพื่อแสดงว่าเราจ่ายภาษีเรียบร้อยกันด้วย เพราะทั้งการต่อ พ.ร.บ. และการชำระภาษีรถยนต์ นับว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ใช้รถใช้ถนน จะได้มีส่วนช่วยกันดูแลให้ถนนหนทางของเราได้รับการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดีต่อไปค่ะ!