จากคำนิยามเราเข้าใจว่า ‘สังคมสูงวัย’ คือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง. ประเทศต่างๆ รอบข้างเราได้มีปัญหาเรื่องนี้แล้ว เช่น ที่สิงคโปร์มีสัดส่วนของผู้สูงอายุใกล้เคียงกับไทย และเป็นสังคมผู้สูงอายุ , เกาหลีใต้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ดังนั้น สำหรับประเทศเราเอง ก็กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเร็วๆ นี้ เช่นกัน โดยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคนแล้ว และมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ. 2564 สัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าประชากร ทุกๆ 100 คน เราจะพบจำนวนผู้สูงอายุ 30 คน ซึ่งน่าจะตามมาด้วยปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วคนส่วนใหญ่ในสังคมยังเข้าใจว่า การรับมือกับเรื่องนี้กลับเป็นเพียงการจัดการกับเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ทำให้การแก้ปัญหาหลักมักจำกัดอยู่เพียงแต่กลุ่มๆ เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา การจัดสวัสดิการต่างๆ แต่กลับไม่ได้เชื่อมโยงเข้ากับการเตรียมการตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงาน จึงเป็นสถานการณ์ที่เราจำเป็นต้องกลับมาสนใจจริงๆ เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในประเทศของเรา รวมทั้งการส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติด้วย

ลักษณะของสังคมผู้สูงอายุ

ลักษณะของสังคมผู้สูงอายุ

จากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing กล่าวว่า ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ที่ไม่สามารถใช้แรงงานตนเองเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัว ซึ่งก็คือเด็กและผู้สูงอายุ มีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงานไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ

  • สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป

  • สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน  อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป

จึงเป็นเหตุผลที่คนไทยอย่างเราจะต้องตระหนักและรับรู้เกี่ยวกับสภาพการณ์นี้ เนื่องจากสังคมไทยกำลังจะเข้าสังคมผู้สูงอายุในปี 2568 หรืออีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้าแล้ว ตามสถิติต่างๆ จะเป็นไปได้ที่เราคนไทยจะต้องเตรียมการรับมือในสถานการณ์ดังต่อไปนี้อย่างเร่งด่วน

  • อายุของคนไทยจะยืนยาวขึ้น : ปัจจุบันมีการเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี แต่ในปี 2568 อายุของคนไทยโดยประมาณจะอยู่ที่ 85 ปี ยิ่งอายุยาวนานขึ้น ทำให้ยิ่งต้องเตรียมเงินเยอะขึ้น

  • ค่าครองชีพทำให้ของแพงขึ้น : ด้วยเงินเฟ้อในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 4% ปัจจุบันข้าวจานละ 40 บาท อีก 20 ปีข้างหน้าเป็นไปได้ว่าอาจจะถึงจานละ 90 บาท ทุกอย่างแพงขึ้น 2 เท่า เงินเฟ้อทำให้ของแพงขึ้น ทำให้ค่าเงินในอนาคตลดลงด้วย

  • ค่ารักษาพยาบาลมีแต่แพงขึ้น : ปีละ 5-8% ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเบียดเบียนเงินเก็บสำหรับผู้สูงวัยมากที่สุด ผู้สูงอายุเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลต่อการเข้าโรงพยาบาลหนึ่งครึ่ง อยู่ที่ 3 หมื่นกว่าบาท และจะสูงกว่าคนไม่สูงอายุอยู่ประมาณหมื่นกว่าบาท

  • โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง : ยิ่งครอบครัวยุคใหม่มีลูกคนเดียวมากขึ้น จำนวนประชากรวัยทำงานก็มีน้อยลง การพัฒนาประเทศก็จะช้าลง ทำให้เศรษฐกิจก็จะโตช้าลงด้วย

  • เงินเก็บหลักเกษียณไม่เพียงพออีกต่อไป : ปัญหานี้อาจจะน่ากลัวที่สุด ลองคิดแบบง่ายๆ ถ้าเราอายุ 40 ปี ต้องการเงินใช้หลังเกษียณปีละ 240,000 บาท แต่มูลค่าเงินในปัจจุบัน ต้องการเกษียณอายุ 60 ปี หรือ อีก 20 ปี จากเงิน 240,000 บาทที่จะต้องมี จะกลายเป็นเงิน 530,000 บาทเนื่องจากเงินเฟ้อ 4% ต้องการมีเงินใช้ไปจนสิ้นอายุไข 80 ปี หรือ อีก 20 ปี ทำให้อาจจะต้องมีเงินขั้นต่ำ 10 ล้านบาท

  • สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว : ตอนนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก  อันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ใน ASEAN และอีกไม่ถึง15 ปีข้างหน้า ไทยจะแซงสิงคโปร์

  • เกิดโรคสุดฮิตในผู้สูงอายุ : จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2554 ได้ระบุว่า ทุกๆ 4 นาที จะมีคนไทยที่เสียชีวิตจากมะเร็ง อยู่ 1 คน , ทุกๆ 6 นาที จะมีคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ อยู่ 1 คน และทุกๆ 6 นาที จะมีคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดในสมองแตก อยู่ 1 คน และคนที่มีอายุมากกว่า 90 ปี จะมีโอกาสการเกิดอัลไซเมอร์ถึง 30% โดยโอกาสการเกิดอัลไซเมอร์ของผู้หญิงจะมีมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า

วิธีรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ

วิธีรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ

  • จัดการแผนค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณ : เมื่อล่วงถึงอายุใกล้เกษียณแล้วจะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ จึงควรเริ่มต้นจาก จัดทำสรุปแผนสวัสดิการสุขภาพหลังเกษียณเพื่อตรวจสอบว่า หลังเกษียณแล้วยังมีสวัสดิการสุขภาพอะไรอยู่บ้าง ถ้ายังขาด ให้มีแผนสวัสดิการสุขภาพตลอดชีวิต (Long Term Health Plan) โดยการโอนไปให้ประกันสุขภาพให้ครอบคุมถึงอายุไขที่คาดการไว้และต้องลงทุนเงินเพื่อให้มูลค่าเพียงพอให้การจ่ายเบี้ยประกันในอนาคต

  • เร่งมูลค่าของเงินให้ชนะเงินเฟ้อ : เพราะเงินเฟ้อทำให้มูลค่าเงินในอนาคตลดลง ดังนั้น เราจะต้องลงทุน เพื่อเร่งมูลค่าเงินให้ชนะเงินเฟ้อ ซึ่งในปัจจุบันก็มีทางเลือกในการลงทุนเพื่อการเกษียณเยอะขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่สามารถได้เงินภาษีแทนได้ อาทิเช่น RMF , LTF หรือ ประกันแบบบำนาญ เมื่อได้เงินภาษีคืน ก็ให้นำเงินคืนภาษีมาลงทุนต่อเพื่อเพิ่มเติมความมั่งคั่งได้

  • การขยายอายุเกษียณ : หลายประเทศใช้นโยบายนี้เพื่อเพิ่มจำนวนคนวัยทำงาน ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยสิงคโปร์เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 เป็น 67 ปี และเกาหลีใต้จะขยายอายุเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปีภายในปีนี้ ญี่ปุ่นจะให้ผู้สูงอายุทำงานได้จนถึงอายุ 65 ปี จากเดิมที่ 62 ปี ภายในปี 2025 ขณะที่ไทยอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ขยายอายุเกษียณของแรงงานในสถานประกอบการจาก 55 เป็น 60 ปี

  • สนับสนุนให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุ : สำหรับไทย ภาครัฐได้เริ่มตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น , ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม แรงงานสูงอายุกลุ่มนี้มีเพียง 3 แสนคน หรือร้อยละ 2.9 ของผู้สูงอายุทั้งประเทศ นโยบายนี้จึงเป็นเพียงการช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยไม่ได้สนับสนุนให้มีการนำทักษะและประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  • เพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน : จะช่วยเพิ่มความสามารถในการหารายได้ และยกระดับประสิทธิภาพของแรงงานในระยะยาว ซึ่งทำได้ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบตลอดช่วงอายุ โดยมากมักได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ในตอนนี้ประเทศไทยก็มีโครงการฝึกอบรมแรงงานสูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น และมีการคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้เช่นกัน

  • การยกระดับคุณภาพชีวิต : เราสามารถวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยภาครัฐก็มีส่วนสำคัญในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงการจัดสรรรายได้และรายจ่ายอย่างสมดุล โดยเฉพาะรายได้หลังวัยเกษียณ ผ่านการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เศรษฐกิจและสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน

เศรษฐกิจและสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน

เมื่อปัญหาโดยรวมคือคนไทยส่วนใหญ่ยังคงแก่ลงแต่มีเงินไม่เพียงพอในการเกษียณและ ใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิต  นอกจากเศรษฐกิจจะไม่โตแล้ว ปัญหาแรงงานก็จะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป มีการประเมินไว้ว่าครอบครัวที่มีแต่ผู้สูงอายุต้องประหยัดจะมีการใช้จ่ายที่ตํ่ากว่าปกติประมาณ 30% ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อในอนาคตหดหายเป็นอย่างมาก การลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยก็จะยิ่งยากขึ้นและนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการลงทุนต่างประเทศ Outward FDI ของบริษัทยักษ์ใหญ่เมืองไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะในประเทศ ASEAN ทำจุดสูงสุดในปี 2016 ประมาณ 200,000 ล้านบาท  แต่อย่างไรก็ตาม ในความสิ้นหวังก็ยังคงพอมีความหวังอยู่บ้างถ้าไทยเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังทั้งด้านการผลิตและสังคม เช่น

ผลกระทบด้านการผลิต

  • เมื่อโครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไปมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นขณะที่มีวัยทำงานเท่าเดิมหรือลดลงจะมีผลกระทบโดยตรงต่อแน่นอน อาจจะส่งผลทำให้ค่าแรงสูงขึ้นได้หรือเกิดการขาดแคลนแรงงาน จึงเริ่มมีการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยการใช้เครื่องมือเครื่องจักรหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน หรือการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

  • ทางด้านการลงทุนและการออม เมื่อวัยสูงอายุหรือวัยเกษียณขาดรายได้หรือมีรายได้น้อยลงทำให้มีการออมลดลง ในขณะที่วัยทำงานต้องรับภาระมากขึ้นทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้มีเงินออมน้อยลงและ เงินลงทุนลดลง สำหรับภาครัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการมากขึ้นเพื่อบริการสังคม ทางด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ทำให้การลงทุนและการออมของประเทศลดลงด้วย

  • ทางด้านผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติ สัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP รายได้ประชาติชาติน้อยลง และรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลลดลง รวมถึงคุณภาพการผลิตลดลง

  • ทางด้านการคลัง เมื่องบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การแพทย์ บริการสังคมแก่ผู้สูงอายุมากขึ้นและต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากไร้และการเก็บภาษีรายได้น้อยลงเนื่องจากมีวัยผู้สูงอายุซึ่งไม่มีรายได้มีสัดส่วนที่มากขึ้น

ผลกระทบทางด้านสังคม

  • การที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจะต้องทำงานมากขึ้นและต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น บางครั้งอาจทำให้ผู้สูงอายุขาดความอบอุ่นหรืออาจถูกทอดทิ้งได้

  • ปัญหาทางด้านสภาพจิตใจ เมื่อไม่ได้ทำงานทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเหงา ไม่ภาคภูมิใจเหมือนเป็นภาระกับลูกหลาน อาจรู้สึกน้อยใจ ซึมเศร้า จึงจำเป็นต้องมีคนดูแลเอาใจใส่วัยเกษียณกันมากขึ้น

  • ปัญหาสุขภาพร่างกาย ทำให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก หากไม่มีการวางแผนสะสมเงินออมเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในวัยชราจึงจำเป็น ต้องเตรียมสะสมเงินออมหรือวางแผนการลงทุนเพื่อจะได้มีรายได้หรือเงินสะสมไว้ใช้ในช่วงที่สูงอายุหรือสามารถนำเงินออมที่สะสมไว้มาใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิตได้

ปัจจุบันงานในไทยส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ต้องการใช้แรงงานซะเยอะทำให้เป็นปัญหาต่อผู้สูงอายุ เพราะสุขภาพจะไม่ค่อยดีทำงานหนักๆ ก็ไม่ได้แล้ว ถ้าไทยเปลี่ยนไปมุ่งเน้นงานที่เป็น Service มากขึ้น แทนที่งานแบบโรงงานหรือเกษตรกรรม ก็อาจจะทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถกลับมาเข้าสู่ระบบแรงงานและช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเกษียณ  เช่น SE-ED บุ๊ค มีโครงการจ้างผู้สูงอายุมาทำงานในร้านหนังสือ ปรับปรุงกฏเกณท์และนโยบายแรงงานต่างชาติให้ชัดเจนเพื่อจูงใจให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น ส่วนในเรื่องหนี้สาธารณะของไทยถือว่าไม่สูง มักจะอยู่ที่ประมาณ 42% ของ GDP และถ้าไม่เอาหนี้ของหน่วยงานราชการมารวมก็จะลดเหลือเแค่ 31% ของ GDP ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่หนี้ตํ่าที่สุดใน Asia หากรัฐบาลยังสามารถใช้การลงทุนภาครัฐเพื่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้วประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมากพอสมควร

สรุป

สรุป

เป้าหมายการเกษียณเป็นสิ่งที่สำคัญมากของชีวิต เพื่อรับมือกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน แต่คนส่วนใหญ่มักมองข้ามปัญหานี้ไปเพราะให้น้ำหนักหรือเน้นกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต. ดังนั้น เมื่อเราหันมาสนใจและรับรู้ข้อมูลปัจจุบันที่ว่า ประชากรที่มีอายุสูงกว่า 65 ปีขึ้นไปประมาณ 9% ในตอนนี้จะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 25% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ 2583 และสถิติผู้สูงอายุชาวไทยในปัจจุบัน มีมากถึง 2 ใน 3 ที่ไม่มีเงินออม ส่วนที่มีเงินออมมากกว่า 1 ล้านบาทนั้นมีเพียง 5% ของจำนวนผุ้สูงอายุทั้งหมด เมื่อสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุของประเทศไทยยังมีอยู่ในระดับจำกัด เราจึงต้องการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุควรจะร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชนและประเทศ โดยเฉพาะการร่วมกันกระตุ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการเตรียมวางแผนการออม การใช้ชีวิตในบั้นปลาย การร่วมมือกันในชุมชน การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ การปรับตัวทางด้านสังคมและจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการออมเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อถึงวัยผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อมีการบริหารจัดการและพัฒนาที่ดี แน่นอนเราจะพ้นวิกฤตได้ไม่ยากนักอย่างไม่ต้องกังวลจนเกินไปด้วย เพราะถ้าคนไทยถ้าตั้งใจทำอะไรก็ไม่แพ้ชาติใดอยู่แล้ว