ถ้าเราจะมีชีวิตใหม่แบบไร้หนี้และมีเงินออม มันจะดีสักเท่าไหร่กันนะ! จากช่วงที่ผ่านๆมา ลากยาวจนพ้นโควิดไปได้ เคยคิดกันบ้างมั้ยค่ะ ว่าเราทำงานมาก็เยอะ ทำไมถึงไม่มีเงินเหลือเก็บเป็นเรื่องเป็นราวสักที ยิ่งต้องผ่านช่วงเงินหดหายอย่างสถานการณ์โควิดเข้าไปอีก เงินในกระเป๋าที่เผื่อๆเอาไว้ ก็มีรอยรั่วเยอะแยะไปหมด

มาปรับแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกันเถอะ.. หากอะไรที่เราเคยมองข้าม คิดว่าเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จริงๆแล้ว เจ้าสิ่งเหล่านี้กลับเพิ่มรายจ่ายไม่น้อยเลย ส่วนไหนบ้างในการใช้ชีวิตประจำที่ทำให้เราใช้จ่ายได้อย่างไม่ค่อยคุ้มค่า มารับมือกับรายจ่ายตรงนี้ และสร้างเงินออมกันดีกว่า ด้วย 6 วิธีที่เราเริ่มได้หลังจากสถานการณ์โควิดผ่านพ้น มาเริ่มใหม่ให้ชีวิตสดใสไปกว่าเก่ากันเลย!

คิดก่อนใช้

คิดก่อนใช้

การซื้อด้วยเหตุผลว่านี่เป็นของที่จำเป็นไหม คิดให้เยอะหน่อยก่อนกดจ่าย รวมถึงภาระเงินกู้ที่มาจากการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือการลงทุนอะไรๆก็ตาม ก็จะช่วยเราวางแผนการเงินได้ดีกว่า เพราะการคิดล่วงหน้าว่า เราจะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอมั๊ย หากเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้อีกรอบในวันข้างหน้า ก็จะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างฉลาดขึ้นและรับมือกับหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ดีกว่าเดิมค่ะ

ยิ่งในสมัยนี้ที่การช้อปออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ และรูรั่วรอยใหญ่ ก็คือคำว่า ‘นิด ๆ หน่อย ๆ’ หรือ ‘ของมันต้องมี’ สาวๆที่ชอบช้อปเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ หรือสะสมลิปสติก เครื่องสำอางค์เฉดสีต่างๆ ถึงราคาจะไม่แรงเว่อร์ แต่ถ้าเลิกงานกลับบ้านปุ๊ป ก็นั่งดู Live ขายของต่างๆ ช้อปเพลินแบบไม่รู้เนื้อรู้ตับ่อยเข้า ของก็เต็มบ้านรายจ่ายก็จะเต็มบิล ดังนั้น การอดใจสักนิด ตั้งสติอีกสักหน่อย ก็จะช่วยลดรายจ่ายจากการช้อปไปได้อีกเยอะ ไม่มีใครอยากเจอสถานการณ์แบบช้อปกระจายจนเกินครึ่งนึงของรายได้แน่ๆค่ะ

จ่ายให้ตรง

จ่ายให้ตรง

เรื่องค่าปรับจากการจ่ายบิลหรือค่าบริการที่ไม่ตรงเวลานี่ก็เป็นตัวดูดเงินในทุกๆเดือนตัวดีเลยล่ะ ก็เข้าใจที่มันลืมกันได้ หรือบางคนบิลแต่ละเดือนก็เยอะแยะสับสน จ่ายคนละวัน ตามเก็บแทบไม่ไหว ยิ่งเป็นยอดใหญ่ๆอย่างการใช้บัตรเครดิต พอรู้ตัวอีกทีว่าเดือนนี้เราจ่ายเงินค่างวดไม่ตรงเวลา อ้าวถูกบวกไปอีกตั้งเท่าไหร่ เสียทั้งเครดิตที่ดี เสียทั้งตังค์ค่าปรับในกรณีจ่ายล่าช้า มันก็จะเจ็บปวดและสะเทือนใจแน่ๆ

รวมไปถึงพวกค่าบริการประเภทอื่น เช่น ค่าโทรศัพ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน หรือฟิตเนส คอร์สออกกำลังกายต่าง ๆ ยิ่งควรเตรียมแยกเงินไว้สำหรับรายจ่ายและค่าบริการในทุกๆเดือน จะตัดผ่านบัตร หรือตั้งเตือนให้จ่ายแบบผ่านแอพพลิเคชั่นได้ก็ยิ่งดี อย่าพลาดไปจนต้องจ่ายช้าและถูกปรับ บางที่ถึงครั้งละ 300 บาทก็มี ถ้าเอายอดตรงนี้ไปสะสมไว้จ่ายสำหรับเดือนหน้าได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าเสียดายไม่น้อยเลยค่ะ

ยกเลิกค่าบริการที่ฟุ่มเฟือย

ยกเลิกค่าบริการที่ฟุ่มเฟือย

แต่ถ้าใครมีบิลเยอะไม่พอ ยังมีค่าบริการรายเดือนที่เอาจริงๆแล้วแทบไม่ค่อยได้ใช้งานก็มี เช่น ค่าสมาชิกฟิตเนสอย่างต่ำก็เดือนละ ประมาณ 1,500 บาท ค่าสมาชิกดูหนังรายเดือน NETFLIX ประมาณ 500 บาท หรือแอพฯอื่นๆที่สมัครบริการพรีเมี่ยมไว้ตัดโฆษณาคั่น แพ็คเกจโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่ไม่ค่อยใช้คุ้ม เดือนละเกือบสองพันบาท ถ้าลองลดสเป็คลงมาหน่อยไม่ติดขัดมากก็เป็นวิธีที่ดีกว่า

เราจึงควรลองสำรวจตัวเองเป็นประจำสักหน่อยว่า บิลแต่ละเดือนที่ส่งมาหรือตัดจ่ายไปเนี่ย เราได้ใช้ประโยชน์จากการสมัครสมาชิกต่างๆ เหล่านี้ คุ้มค่ารึเปล่า ถ้าไปฟิตเนสแค่ละเดือนครั้ง ออกกำลังกายที่สวนสาธารณะใกล้บ้านจะดีกว่ามั๊ย ถ้าซีรีส์ก็ไม่มีเวลาดูและยังเสียตังค์เข้าไปดูหนังในโรงภาพยนต์กับเพื่อนบ่อยๆ พอรู้ตัวว่าไม่ได้ใช้บริการในส่วนนี้คุ้มเท่าไหร่ ก็ควรยกเลิกบริการซะ จะได้ไม่ต้องเสียเงินไปแบบเปล่าประโยชน์ ไว้มีเวลากว่านี้ค่อยสมัครใหม่ก็ไม่มีใครว่าค่ะ

วางแผนในเรื่องรายจ่ายประจำ

วางแผนในเรื่องรายจ่ายประจำ

สำหรับรายจ่ายประจำในแต่ละเดือน ก็อาจเลือกช่องทางการจ่ายเงินที่คุ้มค่าและประหยัดกว่าไปอีกเดือนละไม่น้อย เช่น การเดินทางไปทำงานด้วยรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT การซื้อตั๋วโดยสารแบบรายเดือน ก็จะประหยัดกว่าซื้อเป็นแบบรายเที่ยว หรือสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างน้ำดื่ม แชมพู สบู่ น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ การซื้อครั้งละเป็นแพ็ค หรือถุงใหญ่ที่ได้ปริมาณมากกว่า ลองทำลิสต์สินค้าที่ต้องมีในแต่ละเดือนดูค่ะ แล้วไปเลือกซื้อของเข้าบ้านทีละเยอะๆ ก็จะประหยัดทั้งเวลาและค่าน้ำมันอีกด้วย

รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสังคมไร้เงินสดมากขึ้น ถ้าเราหันมาใช้จ่ายผ่านบัตรต่างๆ ก็จะมีพวกส่วนลด หรือแต้มสะสมให้เราคุ้มค่ากว่า แถมยังได้ในเรื่องความสะดวกปลอดภัย ไม่ต้องพกเงินสดที่เสี่ยงต่อการต่อหล่นสูญหาย หรือเชื้อโรคจากการหยิบจับที่ผ่านหลายมือ ชีวิตแบบ CASHLESS Society ถ้าใช้ดูให้คล่อง ก็ไม่มีอะไรเสียหาย แต่ยังได้สิทธิพิเศษมากมายให้ลุ้นและได้ใช้จ่ายกันสนุกมือกว่าเดิมค่ะ

การปรับตัวในที่ทำงาน

การปรับตัวในที่ทำงาน

จากสถานการณ์โควิด หลายคนก็ชินกับการทำงานออนไลน์กันมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่รวดเร็วในสมัยนี้ให้เกิดประโยชน์ จะการรับ-ส่งงาน การประชุมออนไลน์ การทำงานจากที่บ้าน แบบ Work from Home หรือการทำงานระยะแบบทางไกล Remote-Working ในหลายๆออฟฟิศ ถ้าเราปรับตัวและใช้สื่อ Social Media ต่างๆเป็นตัวกลางในการทำงานมากขึ้น ก็เป็นวิธีดีๆที่ช่วยลดทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดีค่ะ

หรือหากออฟฟิศไหนที่กลับมาใช้ชีวิตกันแล้วตามปกติ ถ้าลองปรับกิจวัตรดู เปลี่ยนมาดื่มกาแฟที่ออฟฟิศ หรือชงเองมาจากบ้าน ก็จะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายสำหรับคนติดกาแฟในช่วงบ่าย ให้ไม่ต้องออกไปเบรคแถวออฟฟิศ แล้วดันได้ของติดไม้ติดมือกลับมาเยอะ หรือซื้อกาแฟสดตามร้านแก้วละ 50 บาท ถึงเกือบร้อย ถ้าเราประหยัดแบบนี้ได้ในทุก ๆ วัน เดือนนึงก็ตกประมาณ 1,500 - 3,000 เลยนะ ลองดูค่ะ ใช้มุมสวัสดิการในออฟฟิศ ขนม-เครื่องดื่มพักเบรคฟรี ก็ช่วยเราประหยัดเงินได้อีกก้อนโตอย่างไม่รู้ตัวเลยล่ะ

เพิ่มการออมที่คุ้มค่า

เพิ่มการออมที่คุ้มค่า

อาชีพเสริมจะช่วยเพิ่มทั้งรายได้และเงินออมด้วย ใครมีลู่ทางดีๆ ก็ขอให้รีบทำควบคู่กันไปเลย จะได้ช่วยทั้งประคับประคองรายได้จากอาชีพหลัก มีความสุขจากการได้ทำในสิ่งที่ชอบ หรืองานอดิเรกที่เรารัก ซึ่งวิธีนี้ก็ทำให้หลายคนฟื้นตัวจากช่วงโควิดกันมาได้ ลองถือโอกาสล้างไพ่ในมือไปซะเลย จัดระเบียบระบบการเงินซะใหม่ ใส่ใจกับเงินออมให้เข้ามามากกว่าเดิม เลือกเก็บก่อนใช้ ทำเป็นบัญชีแยกออกมาจากบัญชีเพื่อการใช้จ่าย ใส่เงินออมในบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์แบบธรรมดา เราก็จะเห็นโอกาสในการเพิ่มส่วนของเงินออมเข้าไปเรื่อยๆค่ะ

และอย่าลืมดูแลสุขภาพกันให้มากขึ้นในยุคที่อะไรก็สุ่มเสี่ยงไปหมด อย่างโหมงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน และปรับไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อการใช้ชีวิตในวิถี New Normal คิดถึงเรื่องของสุขภาพในระยะยาวกันให้มากๆ และเพิ่มทางเลือกอย่างการทำประกันที่คุ้มครองในเรื่องของสุขภาพ หรืออุบัติเหตุ ไว้ให้เราไม่ทำให้เงินออมพัง ยามเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นหลักประกันที่อุ่นใจกว่าเดิมค่ะ

อย่าสูญเสียรายจ่ายโดยไม่จำเป็น แต่ควรทำให้เพิ่มมาเพื่อสร้างเงินออม!

อย่าสูญเสียรายจ่ายโดยไม่จำเป็น แต่ควรทำให้เพิ่มมาเพื่อสร้างเงินออม!

เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ กับ 6 วิธีในการปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ๆ อย่าง New Normal หลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 ได้ผ่านพ้นไป สิ่งเหล่านี้ถ้าเราเริ่มลงมือทำ ก็จะช่วยให้เราลดการสูญเสียรายจ่ายไปโดยไม่จำเป็นได้ และเพิ่มเงินออมในกระเป๋าให้มากขึ้นกว่าเดิมค่ะ

และเชื่อว่าเมื่อหลายคนได้ลองดูกันสักตั้ง ก็จะสามารถอุดรอยรั่วต่อเดือนที่เกิดขึ้นได้อย่างสำเร็จ ซึ่งอย่างน้อย ถ้าในเดือนๆนึงเราสามารถเพิ่มเงินออมได้อีกสัก 1,000 บาท เงินส่วนนี้เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ บวกกับการผลตอบแทนที่เพิ่มคุณค่า เราก็สามารถมีส่วนของเงินเก็บที่สะสมไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำรองฉุกเฉินได้ ซึ่งจำเป็นมากๆในสมัยนี้ หรืออาจใช้ซื้อของขวัญคนในครอบครัวที่เรารัก เก็บสะสมไว้สักหน่อย ก็สามารถพาทั้งครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนได้ แบบไม่ต้องทำงานหนักหาเงินเพิ่ม หรือหยิบยืมใครๆเลยค่ะ แค่ระวังรายจ่ายที่รั่วไหลอย่างที่บอกไปให้รอบคอบขึ้น เพียงเท่านี้ เราและทั้งครอบครัวก็จะมีเงินเพิ่ม เพื่อใช้จ่ายและซื้อความสุขได้ไปอีกนานเลยล่ะ