สำหรับในบทความนี้ ผมจะมาพูดถึงเรื่อง ของผู้สูงอายุหรือคนในวัยเกษียณ ที่ไม่ได้ทำงานแล้ว คนพวกนี้เขาจะสามารถเอาเงินมาจากที่ไหนได้บ้าง ที่ไม่ใช่จากลูกหลาน เพื่อเอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อนๆเคยคิดกันถึงประเด็นนี้ไหมครับ ถ้าเคย แปลว่าเพื่อนๆจะต้องเป็นคนที่มีการวางแผนชีวิตไว้แล้วเป็นอย่างดี
แต่สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่ไม่เคยคิดก็ไม่เป็นไรนะครับ ผมได้นำข้อมูลที่มีประโยชน์มาให้แล้ว เพื่อนๆสามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้ได้ เพื่อที่เพื่อนๆจะได้เป็นผู้สูงอายุที่เกษียณอายุอย่างมีคุณภาพนะครับ โดยแหล่งรายได้ที่ผู้เกษียณอายุ สามารถเอาเงินมาได้นั้นในวันนี้ ผมนำมาแนะนำอยู่ 3 แหล่งหลักๆนะครับ เริ่มด้วย ประกันชีวิตต่างๆที่เคยทำไว้ , กองทุนต่างๆที่เคยลงทุนไว้ , ความช่วยเหลือจากภาครัฐ(เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ) ให้เพื่อนๆตามมาดูนะครับว่ามีประกันชีวิตแบบไหนบ้าง และ มีกองทุนอะไรบ้างที่เพื่อนๆเคยลงทุน และสุดท้าย ความช่วยเหลือจากภาครัฐ (เบี้ยยังชีพ) มีกฏกติกาอะไรยังไง ให้เพื่อนๆมาดูด้วยกันนะครับ
ประกันชีวิตต่างๆที่เคยทำไว้
มาเริ่มกันด้วย ประกันชีวิต แหล่งแรกที่เพื่อนๆจะสามารถเอาเงินได้ สำหรับเพื่อนๆที่ได้ทำประกันชีวิตกันอยู่แล้วคงจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประกันชีวิตที่เพื่อนๆทำกันไปแล้วจากคนขายประกันถูกไหมครับ แต่ใครที่ไม่เคยทำประกันชีวิต ผมอยากให้ลองเอาข้อมูลตรงนี้ไปคิดดูนะครับ เพราะประกันชีวิต ไม่เหมือนกับพวกประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุหรอกนะครับ เพราะประกันชีวิตสามารถที่จะทำการคืนเงินเบี้ยประกันที่เพื่อนๆจ่ายไป ทำให้เพื่อนๆมีเงินใช้ในวัยเกษียณได้ คล้ายๆการออมชนิดหนึ่งเหมือนกันครับ โดยประกันชีวิตที่จะมาอธิบายในวันนี้มี สองแบบหลักๆก็ คือ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เอาจริงๆประกันชีวิตทั้งสองแบบก็ไม่ค่อยมีความแตกต่างเท่าไรนักหรอกครับ มาเริ่มกันที่ประกันชีวิตแบบสะสมทัพย์กันก่อน ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เปรียบเหมือนกับการออมระยะยาว แต่ก็ไม่ได้มีไว้สำหรับใช้ออมเพื่อการเกษียณโดยตรงแต่เพื่อนๆก็สามารถทำเอาไว้ได้เพราะมันก็มีการคืนเงินได้เหมือนกัน ที่บอกว่าเป็นการออมระยะยาว คือ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะต้องทำการจ่ายเบี้ยประกันอยู่ที่ประมาณ 10-15 ปี ซึ่งเพื่อนๆก็จะได้ผลตอบแทนซึ่งไม่มากเท่าไร เมื่อเทียบกับการลงทุนชนิดอื่นๆได้แต่ก็ถือว่าสามารถทำให้เพื่อนๆออมได้ตามเป้าอยู่เหมือนกัน และประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
มาต่อกันที่ประกันชีวิตแบบที่สอง ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ถูกออกแบบมาเป็นการออมระยะยาวเหมือนกันกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เช่นเดียวกันแต่วัตถุประสงค์ของประกันชีวิตแบบบำนาญมีไว้สำหรับใช้ในการเกษียณจริงๆ ซึ่งประกันชีวิตแบบบำนาญนั้นจะต้องมีการจ่ายเบี้ยประกันอย่างน้อย 10 ปี ขึ้นไป ซึ่งอย่างที่บอกจะคล้ายกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันประมาณ 10-15 ปี แต่แตกต่างกันนิดหน่อยตรงที่ประกันชีวิตแบบบำนาญนั้นจะมีการจ่ายเงินคืนเพื่อนๆในทันทีเมื่อเพื่อนๆมีอายุถึง 55 หรือ 60 ปี ขึ้นไป โดยจะทยอยจ่ายเป็นงวดๆ เพื่อให้เพื่อนๆมีเงินใช้ไปเรื่อยๆในแต่ละเดือน ส่วนประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะทำการจ่ายเงินคืน เมื่อครบกำหนดอายุตามกรมธรรม์
ยกตัวอย่าง ถ้าทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ มีกำหนดอายุกรมธรรม์อยู่ที่ 15 ปี เพื่อนๆเริ่มทำตอนอายุสัก 30 พอถึงกำหนด 15 ปี เพื่อนๆก็จะได้เงินคืนจากเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์แล้วตอนอายุ 45 หรือถ้าเพื่อนๆทำตอนอายุ 50 ปี กำหนดอายุกรมธรรม์ 15 ปี เหมือนกัน เพื่อนๆก็จะได้เงินคืนตอนอายุ 65 ปี ซึ่งเลยวัยเกษียณไปแล้ว 5 ปี ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ ถ้าเพื่อนๆทำตอนอายุ 50 ปี เหมือนกันกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ พอเพื่อนๆอายุได้ 60 ปี เพื่อนๆจะเริ่มได้เงินคืนเป็นงวดเรื่อยๆทุกเดือน แต่ถ้าเพื่อนๆทำตอนอายุสัก 30 ปี เพื่อนจะต้องทำการจ่ายเบี้ยประกันไปถึง 25 ปี ถึงจะเริ่มได้เงินคืนจากเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เพราะฉะนั้นตรงนี้เพื่อนๆที่ยังไม่ได้ทำประกันชีวิตอะไรเลย ต้องวางแผนและตัดสินใจดูนะครับว่าอยากจะทำประกันชีวิตแบบไหนที่คิดว่าแบบไหนเหมาะกับตัวเพื่อนๆเองมากที่สุด
กองทุนต่างๆที่เคยลงทุนไว้
พูดถึงกองทุน ก็จะมีอยู่ 3 กองทุน ที่ผมนำมาในวันนี้ที่จะเป็นแหล่งที่เพื่อนๆสามารถเอาเงินมาได้หลังจากเกษียณ ซึ่งมีอยู่ สองกองทุน ที่เป็นภาคบังคับให้เพื่อนๆจ่ายโดยไม่ตั้งใจและอีกหนึ่งกองทุนที่สำหรับให้เพื่อนๆตัดสินลงทุนเอาเองตามความต้องการ มาดู กองทุน 2 กองทุนที่เป็นภาคบังคับกันก่อน กองทุนแรกคือ กองทุนประกันสังคม ต้องบอกเพื่อนๆว่าประกันสังคมที่เพื่อนๆต้องจ่ายไปในทุกๆเดือนนั้นนอกจากจะรักษาพยาบาลฟรีเวลาเจ็บป่วยประกันสังคมนั้นมีกองทุนด้วยนะ โดยกองทุนประกันสังคมจะมีสิทธิประโยชน์ให้เพื่อนๆเลือกอยู่ 2 แบบ คือ บำนาญ กับ บำเหน็จ ตอนที่เพื่อนๆนั้นเกษียณอายุ หรืออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โดยประกันสังคมก็จะทำการจ่ายเงินให้กับเพื่อนๆ โดยเงินเหล่านี้เป็นเงินที่มาจากส่วนหนึ่งที่เพื่อนๆและนายจ้างของเพื่อนๆทำการจ่ายเบี้ยประกันสังคมในทุกๆเดือนและประกันสังคมทำการหักไว้สำหรับออมเป็นกองทุนประกันสังคมขึ้นมา โดยจากหลักการคำนวณแล้วถ้าเพื่อนๆเลือกแบบบำนาญเพื่อนๆก็จะได้เงินประมาณ 4,000 กว่าบาท ต่อเดือน
มาต่อกันที่กองทุนที่สองกัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประเภทนี้จะเป็นกองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความใจดีของนายจ้างของเพื่อนๆนะครับถ้านายจ้างๆเพื่อนๆไม่ได้ใจดีอาจจะไม่มีกองทุนนี้ก็ได้ เพราะกองสำรองเลี้ยงชีพ นั้นไม่ได้มีกฏหมายบังคับให้นายจ้างจัดตั้งขึ้น เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ความใจดีของนายจ้างของเพื่อนๆแล้วล่ะครับว่าจะมีหรือไม่มี สมมุลว่ามีล่ะกันนะครับ กองทุนชนิดนี้ก็จะทำการหักเงินจากเงินเดือนๆของเพื่อนๆไปในทุกๆเดือน เดือนละ 2-15% และบวกกับเงินที่นายจ้างจะจ่ายสมทบให้อีกด้วยแต่อันนี้ก็อยู่ที่นโยบายบริษัทว่าจะจ่ายสมทบเท่าไรแต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆก็จะจ่ายเงินสมทบอยู่ประมาณ 10-15% ของเงินเดือนเพื่อนๆ และเงินในส่วนนี้ก็จะถูกสะสมเข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับเพื่อนๆตอนที่เพื่อนเกษียณและไม่ได้ทำงานกับบริษัทแล้วเพื่อนๆก็จะดั้บเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ไป
และกองทุนสุดท้าย คือ กองทุนที่จะให้เพื่อนๆจะสามารถตัดสินใจเอาเองว่าจะลงทุนในกองทุนนี้หรือไม่นั้นก็ คือ กองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้เพื่อนๆนั้นมีวินัยในการออมที่เป็นการออมระยะยาว เพื่อที่จะได้มีรายได้หลังจากเกษียณ โดยที่มีการนำสิทธิประโยชน์ด้านภาษีมาเป็นแรงจูงใจในการเริ่มออม โดยจำนวนเงินที่เพื่อนๆจะได้รับจากกองทุนเพื่อสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) นั้นก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่เพื่อนๆได้ลงทุนไป และนโยบายของกองทุนที่เพื่อนๆลงทุน ถ้าเพื่อนๆลงทุนมากเพื่อนๆก็จะได้รับเงินในยามเกษียณมากตามไปด้วย
ความช่วยเหลือจากภาครัฐ (เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ)
มาถึงแหล่งสุดท้ายที่จะให้เพื่อนๆมีเงินใช้ในวัยเกษียณแล้ว นั้นก็ คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นความช่วยเหลือที่ทางรัฐบาลไทยเข้ามาช่วยเหลือประชาชน โดยมี กฏกติกา ดังนี้ คือ เมื่อเพื่อนๆอายุ ตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป เพื่อนๆทุกคนจะได้รับเงินจากรัฐบาล ที่เรียกว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยทางรัฐบาลจะมีการจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุตามแต่ช่วงอายุของเพื่อนๆ คือ 60-69 ปี เพื่อนๆจะได้รับเงินเป็นรายเดือน เดือนละ 600 บาท และอายุ 70-79 ปี จะได้รับเดือนละ 700 บาท และอายุ 80-89 ปี จะได้รับเดือนละ 800 และสุดท้าย อายุ 90 ปีขึ้นไปจะได้รับ 1,000 บาท ต่อเดือนจนกว่าเพื่อนๆจะสิ้นลมหายใจกันเลยทีเดียว และจากที่ได้บอกตัวเลขให้กับเพื่อนๆไปแล้วเพื่อนๆคงจะเห็นแล้วจำนวนเงินมากมายขนาดนี้ที่รัฐบาลไทยได้ช่วยเหลือนั้นในแต่ละเดือนมันไม่พอกินไม่พอใช้หรอกครับเพื่อนๆ ถึงเราจะอยู่ในวัยชราแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้นเพื่อนๆก็อย่าลืมที่จะใส่ใจกับ สองแหล่งก่อนหน้านี้ ที่ผมนำข้อมูลมาให้ไปพิจารณาดูนะครับ
แม้จะไม่ได้ทำงานผู้สูงอายุก็มีเงินสำหรับใช้จ่ายได้
เห็นกันไหมครับ ว่าคนสูงอายุที่อยู่ในวัยเกษียณแล้วถึงจะไม่ได้ทำงานแล้วก็สามารถที่จะมีรายได้เหมือนกัน และถ้าเพื่อนๆอยากที่จะเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพและมีรายได้ใช้ยามเกษียณเหมือนกับข้อมูลที่ผมนำมาให้ในวันนี้ เพื่อนๆก็ต้องเริ่มที่จะหยุดคิดและเริ่มวางแผนได้แล้วนะครับ ว่าจะทำประกันชีวิตดีไหม ถ้าทำจะเลือกทำแบบไหน จะลงทุนในกองทุนเพื่อสำรองเลี้ยง (RMF) ด้วยดีไหมและจะลงทุนเท่าไรดี ถ้าเพื่อนๆเริ่มคิดและเริ่มวางแผนลงมือทำ ผมรับรองได้เลยว่าพอถึงวัยเกษียณเพื่อนๆจะไม่ลำบากอย่างแน่นอนและมีเงินใช้มากพอแน่ๆในแต่ละเดือนแต่ถ้าเพื่อนๆที่ไม่ยอมที่จะคิดและเริ่มวางแผนลงมือทำ รอที่จะหวังพึง ลูกหลาน หรือ รอเงินที่ ภาครัฐช่วยเหลือ อย่างเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผมต้องบอกเลยว่ามันไม่มีทางพอแน่ๆ หรือถ้า ลูกหลานเลี้ยงเพื่อนๆจากที่จะได้รับความรักเพื่อนๆจะกลายเป็นภาระของลูกหลานแทนนะครับ อยากให้เพื่อนๆลองกลับไปคิดกันดู
น้ำตาล
น่าเป็นห่วงเหมือนกันนะคะสำหรับผู้สูงอายุ ถ้าไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลยเกี่ยวกับการออมเงิน ตอนที่อายุมากแล้วงานก็ทำไม่ได้ จะหาเลี้ยงชีพตัวเองจะได้รับรายได้มาจากไหน บทความนี้ช่วยให้เราเตรียมตัวก่อนจะถึงวัยสูงอายุ เพื่อที่จะรู้ช่องทางสำหรับการเก็บออมเงินเอาไว้สำหรับช่วงเวลาดังกล่าวได้ จะได้ไม่เป็นภาระกับคนอื่นในครอบครัว
Danita
อ่านแล้วนึกถึงตัวเองตอนอายุเยอะๆเลย ถ้าไม่ได้เตรียมตัวก่อนพอถึงช่วงวัยสูงอายุเราจะเป็นยังไงนะ เบี้ยสำหรับผู้สูงอายุคงจะได้อยู่แล้วแต่ไม่พอแน่ๆ เราคงต้องคิดเรื่องนี้มากขึ้นละ เคยเห็นเรื่องกองทุนสำหรับเก็บเงินไว้ใช้ช่วงหลังเกษียณอยู่เหมือนกันค่ะ เดี๋ยวจะไปหาข้อมูลมากขึ้นสักหน่อย ขอบคุณสำหรับข้อมูลและคำแนะนำนะคะ
ขึ้นเขาลงทะเล
เอาจริงๆนะคนไทย จะมีสักกี่คนที่ สามารถลงทุนในกองทุนที่บทความนี้บอกได้ หรือประไปซื้อกันตามที่บอก ลองๆไปตามจังหวัดดูสิ คนแก่เต็มไปหมด อาชีพเขาไม่ได้เงินเยอะถึงขนาดที่จะเอาทำเรื่องแบบนี้ได้ ดังนั้น การช่วยเหลือจากรัฐเลยเป็นแหล่งเงินอย่างเดียวที่คนแก่สามารถ พึ่งได้ แต่ถามว่าพอไหม ตอบเลยว่าไม่พอใช้จ่ายแน่นอน
คาราเมล
เงินจากการรัฐบาลที่เรียกว่าสวัสดิการผู้สูงอายุนะเหรอ น้อยนิดเดียวไม่พอใช้หรอกครับ ต้องมีเงินเก็บเยอะๆถึงจะใช้จ่ายสบายตอนแก่ ส่วนคนแก่ตอนนี้ก็ให้ลูกหลานดูแลซะส่วนใหญ่ และน่าเห็นใจคนสูงอายุหลายคนที่ตอนนี้ยังต้องทำงานหนักอยู่เลย ทั้งที่ควรจะพักผ่อนได้แล้ว ได้แต่สงสารนะ ผมเองก็ช่วยอะไรไม่ได้ ผมเองก็ต้องดูแลคุณตาเลย
นิคม
ไม่ว่าจะเป็นเงินหลังจากที่ไม่ได้ทำงานแล้วจะมาจากเงินประกันชีวิตหรือเงินกองทุน มันไม่ใช่ว่าพอเราอายุมากแล้วเราจะได้นะครับ มันต้องเริ่มทำตั้งแต่เรายังอายุไม่มากคือต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในบ้านเรามันไม่พอที่จะเลี้ยงดูผู้สูงอายุจริงๆ อายุ 60 ได้ 600 บาท 600 บาทคิดดูสิครับจะใช้ทำอะไรได้บ้าง แสดงว่าเราเนี่ยต้องเริ่มเก็บเงินช่วงที่เราอายุมากตั้งแต่ตอนที่เรายังมีแรงอยู่ครับ
ไปเที่ยวกันเถอะ
@ คุณขึ้นเขาลงทะเลครับ ถ้ากลัวเงินไม่พอจริงๆ ก็ควรให้ลูกฝากเงินให้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยที่อาจจะฝากเงินเป็นบัญชีออมทรัพย์หรือเป็นบัญชีฝากประจำก็ได้ แบบไม่ต้องถอนเลย 25-30 ปี ผมว่าตรงนี้น่าจะช่วยได้อยู่นะครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินแค่เล็กๆน้อยๆเวลาที่เราฝาก แต่ในอนาคตมันอาจเป็นเงินก้อนโตที่ผู้สูงอายุสามารถเอาไปใช้ได้ นี่เป็นอีกทางนึงครับที่ผมทำให้กับพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่แก่ชราไปแล้วเราไม่ได้อยู่ดูแลเค้า อย่างน้อยเขาก็ยังมีเงินใช้ได้ครับ
นพัสกร
บทความนี้กำลังพูดถึง คนแก่ใช่ไหมครับ ไม่เกี่ยวกับลูกๆใช่ไหม คนแก่ๆที่ทำงานเก็บเงินก็มีเยอะนะครับ แต่ว่า ก็จะเป็นคนที่ทำงานราชการเป็นส่วนใหญ่นะครับ ส่วนที่รองลงมาคือพวกนักธุรกิจต่างๆครับ แต่ถ้าเป็นชสงบ้านเรื่องเงินเก็บก็อาจจะมีบ้างแต่ 100คน เอาสัก10คน ก็ว่าได้ครับ ที่จะมีเงินเก็บ แถมเก็บมากสุด ก็ไม่เกินแสนครับ
โย
ก็ต้องดูก่อนนะครับว่าช่วงของผู้สูงอายุที่จะได้รับผลประโยชน์นี้อยู่ในช่วงไหนแล้ว ถ้ายังเป็นเด็กหรือเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ก็วางแผนที่จะสามารถลงทุนกับกองทุนได้ แต่ถ้าอายุอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ใช้เงินของผู้สูงอายุจากรัฐบาลก็ได้ครับ เพราะว่าซื้อกองทุนอะไรก็ไม่ได้แล้ว อย่าลืมที่จะไปตรวจดูประกันสังคมนะครับว่ามีทำไว้บ้างไหมจะได้เงินคืนกับเขาบ้าง