สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในทุกๆเดือน  นอกจากเราจะมีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ว่างงาน หรือ กรณีเสียชีวิตแล้ว

เงินจากตรงนี้ยังได้ถูกกันไว้เพื่อเป็นเงินออมยามเกษียณ หรือที่เรียกสั้นๆว่า ‘เงินชราภาพประกันสังคม’ อีกด้วย  รายละเอียดการได้รับเงินส่วนนี้จะเป็นอย่างไร ได้คืนเมื่อไหร่-มากน้อยแค่ไหน  มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันได้เลยค่ะ

‘เงินชราภาพประกันสังคม’ คืออะไร-ใครมีสิทธิ์บ้าง

‘เงินชราภาพประกันสังคม’ คืออะไร-ใครมีสิทธิ์บ้าง

จากการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม  ที่หลายคนรู้จักกันดีว่าเราจะต้องจ่ายเป็นอัตรา 5% ในทุกเดือนนั้น  หมายความว่า ถ้ามีเงินเดือน 10,000 บาท จะต้องจ่ายเงินในประสังคมเป็นจำนวน 10,000 x 5% = 500 บาท แต่จะหักได้สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน (หากรวมกับที่นายจ้างและรัฐบาลช่วยสมทบด้วย จะเป็น 7% หรือ 1,050 บาท สำหรับฐานเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาท)

แต่จาก 5% ที่กล่าวไปนี้จะยังไม่ใช่เงินที่ได้ถูกออมเพื่อการเกษียณไปซะทีเดียว เพราะมีเพียงแค่ 3% หรือจำนวน 450 บาท ซึ่งถูกหักเงินเข้ามาเป็นเงินออมชราภาพ เพื่อได้รับเงินคืนเมื่อถึงช่วงวัยเกษียณ และทางประกันสังคมก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ได้รับเงิน คือจะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา หรือ ผู้ประกันตนในมาตรา 39; มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์; และ ความเป็นผู้ประกันตนถึงช่วงสิ้นสุดลงค่ะ

รูปแบบของการได้รับเงินชราภาพประกันสังคม

รูปแบบของการได้รับเงินชราภาพประกันสังคม

รูปแบบของเงินออมชราภาพนี้ จะแบ่งได้ใน 2 กลุ่ม คือ "เงินบำเหน็จ" ซึ่งเป็นการจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว และ  "เงินบำนาญ" ซึ่งจะมีการทยอยจ่ายแบบเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต โดยที่เราเลือกเองไม่ได้ว่าจะเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญ เพราะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตามเงื่อนไข ดังนี้

เงินบำเหน็จชราภาพ

คือ การจ่ายเงินสมทบที่ไม่ถึง 180 เดือน หรือ 15 ปี โดยแบ่งจาก 2 กรณี คือ

  1. จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ พร้อมความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง  จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับเงินส่วนที่เราเคยนำส่งสมทบไว้ ตัวอย่างเช่น  นาย ก. เคยจ่ายเงินสมทบ 450 บาทต่อเดือน  เป็นเวลา 11 เดือน  เขาก็จะได้รับเงินบำเหน็จ(เงินก้อนครั้งเดียว)  จำนวน 450 x 11= 4,590 บาทค่ะ  (สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 จะไม่มีกรณีนี้ เพราะจะต้องผู้ประกันตน มาตรา 33 มาแล้ว 12 เดือน)

  2. จ่ายเงินสมทบมามากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน  และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ พร้อมความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง  จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับจำนวนเงินที่นำส่งสมทบเอง +  เงินที่นำส่งสมทบในส่วนของนายจ้างและรัฐบาล  + ผลประโยชน์ตอบแทน (ผลกำไรจากกองทุนประกันสังคมซึ่งอยู่ราว ๆ 3-6%)ค่ะ

หมายเหตุ

กรณีผู้ได้สิทธิ์รับเงินบำนาญชราภาพ ถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่ได้สิทธิ์นี้  จะต้องมีการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือน ที่จะได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตายด้วย

เงินบำนาญชราภาพ

เงินบำนาญชราภาพ คือ การจ่ายเงินสมทบที่มากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี แม้ว่าจะเคยหยุดส่งไปช่วงหนึ่งแล้วกลับมาเข้าในระบบประกันสังคมใหม่ โดยส่งติดต่อกัน 15 ปี ก็ตาม ถือว่ามีสิทธิ์การได้รับเงินบำนาญนี้เท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)  เช่น รายได้ 15,000 คำนวณได้ 15,000 x 20% = มีเงินบำนาญ เดือนละ 3,000 บาทไปตลอดชีวิต

แต่หากผู้ประกันตนเคยจ่ายเงินสมทบมามากกว่า 180 เดือน  หรือ  15 ปี  จนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ พร้อมความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง  ก็จะได้บำนาญ 20%  บวกเพิ่มเข้าไปอีก 1.5%  ต่อระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน

ตัวอย่างเช่น นาย ข. เป็นผู้ประกันตนอายุ 30 ปี  มีเงินเดือนๆละ 20,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบก่อนเกษียณไปทั้งหมด 300 เดือน หรือ 25 ปี จนอายุครบ 55 ปี  คาดว่าจะมีเงินเดือนก่อนเกษียณเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลังที่ 70,000 บาท แต่ก็จะถูกจำกัดอยู่ที่ 15,000 บาทคงเดิม

ดังนั้น เงินบำนาญชราภาพที่จะได้ คือใช้สูตร 15,000 x (20%+((300-180)/12)*1.5% เท่ากับจำนวน 5,250 บาท/เดือนค่ะ

จึงสรุปได้ว่า เราจะได้รับเงินคืนจากประกันสังคมในรูปของบำเหน็จหรือบำนาญ ก็จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ได้นำส่งเงินสมทบ , อายุ และ สภานะความเป็นผู้ประกันตนค่ะ  ใครอยากรู้ว่าจะได้เท่าไหร่ จึงต้องเช็คสิทธิ์และเริ่มคำนวณเงินชราภาพจากประกันสังคมกันได้ตั้งแต่ตอนนี้

และถ้ารู้ตัวแล้วว่าจะได้รับสิทธิเงินเกษียณตรงนี้แล้ว หรือ มีเหตุให้ลาออกจากกองทุนประกันสังคม ก็จะต้องรีบทำการยื่นเรื่องเพื่อรับเงินออมชราภาพภายใน 1 ปีเท่านั้น!  หากนานเกินกว่านั้น จะเสียสิทธิ์ทันที เงินส่วนนี้จะตกเข้าไปอยู่ในกองกลางแล้วก็จะไปขอคืนทีหลังไม่ได้แล้ว ใครรู้ตัวว่าใกล้ถึงเวลา จึงต้องเตรียมเอกสารและหลักฐานกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆแล้วล่ะค่ะ

หลักฐานและขั้นตอนในการรับผลประโยชน์

หลักฐานและขั้นตอนในการรับผลประโยชน์

การขอคืนเงินชราภาพจากประกันสังคม จะต้องมีหลักฐาน-ขั้นตอนอย่างไร เพื่อการรับผลประโยชน์  จะแยกได้เป็นกรณี คือ...

ผู้ประกันตนขอคืนเงินชราภาพด้วยตัวเอง

กรณีนี้จะใช้ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01) และ สำเนาสมุดบัญชีออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอฯ (จาก 11 ธนาคาร คือ ธ.กรุงไทย , ธ.กรุงศรีอยุธยา , ธ.กรุงเทพ, ธ.ไทยพาณิชย์, ธ.กสิกรไทย, ธ.ทหารไทย, ธ.ธนชาต, ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย, ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย, ธ.ออมสิน และ ธ.เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)

ทายาทขอรับสิทธิ์แทน

กรณีนี้จะใช้ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01), สำเนามรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ตาย , สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิ์รับเงินชราภาพ, สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตนและของบิดามารดา (ถ้ามี), สำเนาสูติบัตรของบุตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตร, หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จชราภาพ (ถ้ามี) และ สำเนาสมุดบัญชีออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอฯ

ขั้นตอนการยื่นเรื่อง

ทั้งผู้ประกัน หรือ ทายาทผู้มีสิทธิ์ จะต้องกรอกแบบสปส.2-01 พร้อมการลงลายมือชื่อ และแนบหลักฐานแล้วนำมายื่นที่ สนง.ประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ใกล้กระทรวงสาธารณสุข) หรือ ยื่นขอรับทางไปรษณีย์

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจหลักฐานและพิจารณา  แล้วออกหนังสือแจ้งผลการพิจารณา เพื่อสั่งจ่าย ทั้งทางเช็ค,เงินสด หรือ การโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้รับผลประโยชน์ทดแทน  โดยถ้าเป็นเงินบำนาญชราภาพ จะจ่ายเป็นรายเดือน แต่หากเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ จะทำการจ่ายเพียงครั้งเดียวค่ะ

รู้ยอดเงินเกษียณแล้ว อย่าลืม! เดินเรื่องเพื่อรับเงินคืนภายใน 1 ปีกันล่ะ

รู้ยอดเงินเกษียณแล้ว อย่าลืม! เดินเรื่องเพื่อรับเงินคืนภายใน 1 ปีกันล่ะ

ถ้าใครได้นำส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมมาตลอดๆ รู้ไว้เลยนะจ๊ะว่าตัวเราจะมีเงินเกษียณเป็นของตัวเองกันแล้ว แต่จะมาจำนวนเท่าไหร่ ในรูปแบบบำเหน็จหรือบำนาญ ก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ได้นำมาเล่าให้ฟังในวันนี้. และต้องไม่ลืมด้วยล่ะ ว่าเพื่อที่ตัวเราเองหรือครอบครัวผู้มีสิทธิ์จะได้รับเงินก้อนนี้ จะต้องทำการยื่นเรื่องภายใน 1 ปีเท่านั้น!!

แต่ถึงเงินชราภาพประกันสังคม จะเป็นหลักประกันนึงสำหรับชีวิตวัยเกษียณได้ แต่ถ้าถึงตอนนั้นจริงๆ การพึ่งรายรับช่องทางนี้เพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่เพียงพอต่อยุคสมัยและการใช้ชีวิตของเราแล้ว  จึงต้องมีการวางแผนเกษียณด้วยเงินออมจากแหล่งอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะการลงทุนตามสไตล์ของตน หรือ การเลือกประกันบำนาญ และกองทุนเพื่อการเกษียณเพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้มากขึ้น. สามารถเข้ามาวางแผนการเงินแต่เนิ่นๆกับ MoneyDuck กันได้ เราพร้อมที่จะเป็นเพื่อคู่คิดในการใช้ชีวิตและการเงินสำหรับคุณคะ :)